หากย้อนไปดูสภาพการณ์ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว สถานภาพทางสังคมของผู้หญิงในภาพรวมในสังคมไทยขณะนั้น เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในโลกของการทำงาน ผู้หญิงเริ่มที่จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเนื่องมาจากโอกาสทางการศึกษาที่ขยายกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เส้นขีดบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงนั้น ยังคงความสำคัญให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในครอบครัว แม้จะทำงานนอกบ้านในจำนวนมากขึ้นก็ตาม ในขณะที่บทบาทและภาพลักษณ์ของผู้ชายนั้น จะล่วงเลยไปนอกเขตบ้าน มีหน้าที่คุ้มครองดูแลครอบครัว เป็นผู้นำ รวมทั้งมีบทบาทในเวทีสาธารณะ
ในส่วนของสถานภาพทางกฏหมายของผู้หญิง แม้จะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2475 ไม่แตกต่างจากชาย และรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกก็ได้รับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนชาวไทย อย่างไรก็ตาม การบุกเบิกในเรื่องสถานภาพและสิทธิของผู้หญิงนั้น ก็ได้มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด เริ่มอย่างจริงจังมาตั้งแต่การก่อตั้งสภาวัฒนธรรมโดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามที่ต่อสู้ให้ผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคในการรับราชการ และต่อมาการเคลื่อนไหวต่างๆ ภายใต้การนำของคณะเนติบัณฑิตและธรรมศาสตร์บัณฑิตสตรี ซึ่งก่อตั้งโดยคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวกับการสมรส ยกฐานะผู้หญิงให้ดีขึ้น รวมทั้งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกาศใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งมาตรา 28 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า "หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน" และบทเฉพาะกาลที่เป็นการแก้ไขกฏหมายอื่นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบที่ให้ความเสมอภาคต่อผู้หญิงในหลายกรณี
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว การเคลื่อนไหวในบริบทโลก ได้เอื้อให้กระแสการตื่นตัวของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องของสตรีครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2518 ณ กรุงไนโรบี นับเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาสถานภาพของผู้หญิงในช่วงต่อมา ประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงประสบเริ่มได้รับการหยิบยกมากขึ้น และมีการรวมตัวของผู้หญิงกันมากขึ้น โดยในช่วงนั้น จุดเน้นเริ่มที่การสงเคราะห์ช่วยเหลือ เสริมสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพและความสามารถ ก่อนที่จะขยายกรอบให้ครอบคลุมการต่อสู้เรียกร้องสร้างความเป็นธรรมระหว่างหญิงชายในระยะต่อมา
ในช่วงที่ผ่านมา ในภาพรวม บทบาทของบ้านพักฉุกเฉินค่อนข้างโดดเด่น และเป็นที่รู้จักในฐานะหน่วยงานที่พร้อมให้ที่พักพิงและความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหา จึงกลายเป็นหน่วยงานที่เปรียบได้เหมือนสถาบันการศึกษาในลักษณะหนึ่ง ที่ช่วยสะท้อนปัญหาที่ผู้หญิงประสบ และช่วยสร้างสมประสบการณ์ในการดูแลผู้หญิงและเด็กให้กับนักศึกษาที่มาขอศึกษาและฝึกงาน รวมทั้งผู้สนใจในงานของบ้านพักฉุกเฉินที่มาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน เมื่อสื่อมวลชนประสงค์ที่จะนำเสนอแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวกับผู้หญิงโดยเฉพาะปัญหาที่ผู้หญิงประสบ บ้านพักฉุกเฉินก็มักจะเป็นที่ที่สื่อขอข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อต้องการข้อมูลจาก "ตัวจริง เสียงจริง"
ฐานประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือของบ้านพักฉุกเฉินที่ยาวนาน ช่วยสร้างการตระหนักรับรู้ในปัญหาที่ผู้หญิงประสบต่อหลายภาคส่วนของสังคม บทเรียนที่รวบรวมได้จากปัญหาที่หลากหลายของสมาชิกบ้านพักฉุกเฉิน ทำให้สมาคมฯ สามารถก้าวไปมีบทบาทในการกระตุ้นให้องค์กรต่างๆทั้งในภาครัฐและเอกชนดำเนินงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหา สามารถร่วมดำเนินงานเป็นเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐในแนวทางใหม่ๆ สามารถให้ข้อมูลในฐานะผู้ปฏิบัติในเวทีเสวนา อภิปรายต่างๆ รวมทั้งดำเนินโครงการนำร่องเพื่อสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน
บ้านพักฉุกเฉินได้สั่งสมประสบการณ์ที่มีผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาที่มาขอรับความช่วยเหลือเป็น "ครู" ที่ทำให้พวกเราที่ได้สัมผัส ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้สึกขอบคุณที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ขยายมุมมอง ตกผลึกความคิด และเติมเต็มความเข้าใจต่อผู้หญิง ทำให้มีพลังที่จะทำงานเพื่อผู้หญิงอย่างเต็มที่ต่อไป