บ้านพักฉุกเฉินหลังแรก และงานระยะเริ่มต้น
ท่ามกลางบรรยากาศความต่อเนื่องของการรณรงค์ของกลุ่มนักกฏหมายหญิง และการตื่นตัวในเรื่องของผู้หญิงในภาพรวมจนถึงปี 2517 นั้น คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในฐานะที่เป็นนักกฏหมายและร่วมรณรงค์ในเรื่องสิทธิของผู้หญิงมาโดยตลอด และจากประสบการณ์ในสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายแห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการให้คำปรึกษาทางกฏหมาย คุณหญิงได้รับรู้ปัญหาและความทุกข์ยากของผู้หญิงที่มีทั้งถูกทารุณกรรมจากคนในครอบครัวเดียวกัน บ้างก็ถูกข่มขืนจากคนใกล้ตัว บ้างก็ดิ้นรนเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ แต่กลับถูกล่อลวงบังคับให้ค้าประเวณี การให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านกฏหมายนั้น ไม่สามารถเยียวยาปัญหาได้ทั้งหมด กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยได้อีกทางหนึ่ง
ในขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรใดเลยที่บริการที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้หญิงโดยเฉพาะ ผิดกับต่างประเทศที่มีสถานสงเคราะห์ที่เป็นที่พึ่งคอยช่วยเหลือผู้หญิง พร้อมให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ ติดได้ดังนั้น คุณหญิงกนิษฐา ไม่รอช้า ตัดสินใจเปิดบ้านพักตนเอง เป็นบ้านพักฉุกเฉินทันที ห้องขนาดไม่ใหญ่นัก ณ บ้านถนนนครไชยศรี กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านพักฉุกเฉินในระยะเวลาต่อมา
บ้านพักฉุกเฉิน จึงนับเป็นที่พักพิงสำหรับผู้หญิงและเด็กแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน
หลังจากที่ได้ทดลองเปิดบ้านตัวเองเป็นบ้านพักฉุกเฉินมาระยะหนึ่งแล้ว รองศาสตราจารย์วิมลศิริ ชำนาญเวช ได้เล่าว่า โครงการสร้างบ้านพักฉุกเฉินร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายได้เริ่มขึ้น โดยได้ขอต่อเติมอาคารชั้น 3 ของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ.25232524 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์ เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ และได้รับการสนับสนุนจากการระดมทุนร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายฯ อีกจำนวนหนึ่ง และได้รับเงินพัฒนาชุมชนที่รัฐบาลสมัยนั้นมอบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนคนละหนึ่งล้านบาท เพื่อไปพัฒนาจังหวัดของตน คุณหญิงกนก สามเสน วิล ในฐานะ ส.ส. พรรคประชากรไทย ได้นำมาบริจาคสมทบ ร่วมกับเงินที่ประชาชนบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง จึงสร้างเสร็จ
|
|
|
บ้านพักฉุกเฉินหลังแรกนี้ ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารสมาคมบัณฑิตสตรี
ทางกฏหมายฯ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เสด็จเปิดบ้านพักฉุกเฉินเป็นทางการเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2525
และในปีเดียวกันนั้นกลุ่มส่งเสิรมสถานภาพสตรี ซึ่งต่อมาในปี 2531 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ก็ได้ทรงพระกรุณารับเป็นองค์อุปถัมภ์ของสมาคมฯ
บ้านพักฉุกเฉินเปิดทำการ 365 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เดือดร้อนก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ได้เสมอ ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กนั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่หญิงไทย หากแต่ยังเป็นธุระช่วยเหลือหญิงต่างชาติด้วย ความช่วยเหลือในช่วงแรกๆนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ผู้หญิงถูกล่อลวงไปค้าประเวณี มีทั้งเด็กสาวไร้เดียงสาจากเชียงราย หญิงสาวต่างชาติที่มัคคุเทศน์เถื่อนหลอกเป็นต้น บ้านพักฉุกเฉินหยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ว่าอดีตเป็นอย่างไรมาก่อน จุดเน้น เป็นเพียงว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้พ้นจากปัญหานั้นๆได้ ข้อแนะนำของคุณหญิงต่อเจ้าหน้าที่ที่ทุกคนยึดถือกันมาจนทุกวันนี้ ก็คือ ต้องไม่ทำให้ผู้เดือดร้อนรู้สึกว่า ตนหนีเสือมาปะจระเข้เป็นอันขาด แต่ต้องทำให้เขารู้สึกได้ว่าหนีร้อนมาพึ่งเย็น
ไม่นานนัก บ้านพักฉุกเฉินก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางว่า เป็นที่พักชั่วคราวและให้คำปรึกษาทางกฏหมาย รวมทั้งให้ทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตแก่ผู้หญิงจำนวนมาก เมื่อมีผู้มาขอรับบริการมากขึ้น บ้านพักหลังแรกจึงดูคับแคบไปถนัดตา