พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550
( ใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 )
ขอบเขตที่มาของสิทธิได้รับการคุ้มครองครอบครัวจากสังคมและรัฐ
เจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
กำหนดสารบัญญัติเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญา และมีกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด
กำหนดวิธีสบัญญัติในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
ที่มา กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966
ข้อ 23
ครอบครัวเป็นหน่วยรวมของสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติ และย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ
รัฐธรรมนูญ 2540
มาตรา 53 วรรคแรก เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง โดยรัฐจากความใช้ ความรุนแรง
และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ( ยกเลิก )
รัฐธรรมนูญ 2550
- มาตรา 40(6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนิน กระบวน พิจารณาคดี อย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมใน คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
- มาตรา 52 วรรคสอง เด็ก เยาวชน สตรีและบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจาก การใช้ความรุนแรงและ การปฏิบัติ อันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว
เจตนารมณ์
มาตรการ การคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ ความรุนแรง การปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม และ การบำบัดฟื้นฟู
หลักการ
กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษมากกว่าที่จะแก้ไขฟื้นฟู หรือปกป้องคุ้มครอง การใช้มาตรการทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาบังคับกับการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจึงไม่เหมาะสม
ปัญหาการแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อนเกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด มีลักษณะพิเศษแตกต่างจาก
การทำร้ายร่างกายทั่วไป การมีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะ จึงมีการเหมาะสม มากกว่า การใช้กระบวนการทางอาญา
สาระ
กำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอน ที่มีลักษณะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป โดยให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสกลับตัว และยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ ( สมานฉันท์ )
นิยาม ( มาตรา 3 )
ความรุนแรงในครอบครัว หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ / หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว / หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำ ไม่กระทำ หรือยอมรับการกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใด โดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท
บุคคลในครอบครัว หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กิน หรือ เคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัย และ อยู่ในครอบครัวเดียวกัน
ศาล หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และ
วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ หมายความว่า ค่าทดแทนความเสียหายเบื้องต้นสำหรับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวสูญเสียไป โดยผลของการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และให้หมายความรวมถึงรายได้ที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่าใช้จ่ายในการหาที่อยู่ใหม่ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น
กำหนดมาตรการทดแทนโทษ
ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่า ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีความผิดตามมาตรา 4 ศาลมี อำนาจ กำหนดให้ใช้วิธีการฟื้นฟู /บำบัดรักษา/ คุมความประพฤติผู้กระทำความผิด / ให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงิน ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ / ทำงานบริการสาธารณะ/ ละเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว / หรือ ทำทัณฑ์ไว้ ตามวิธีการและระยะเวลาที่ศาลกำหนด แทนการลงโทษ ผู้กระทำความผิดก็ได้ ( มาตรา 12 ว.1 )
อายุความ ถ้ามิได้มีการ แจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามม.5 หรือมิได้มีการร้องทุกข์ตามม.6 ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูก กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอคุ้มครอง สวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ม.7)
การสอบสวน ส่งตัวผู้ต้อง ส่งสำนวนและการขอผัดฟ้อง
เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็ว และ ส่งตัวผู้กระทำฯ สำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำ แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกิน 6 วัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามคราวโดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม (ม.8 ว.แรก)
การดำเนินคดีกรณีความผิดกรรมเดียว
กรณีที่การกระทำความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียว กับความผิดตามกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีต่อศาลรวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นเว้นแต่ ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมี อัตราโทษสูงกว่า ให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม ( ม.8 ว.2 )
วิธีการและหลักเกณฑ์การสอบปากคำผู้ถูกกระทำฯ
การสอบปากคำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วยในขณะสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา ( ม.8 ว.3 )
กรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์หรือบุคคลที่ผู้ถูกกระทำร้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำไปก่อนโดยไม่ต้องมีบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวน ( ม.8 ว.4 )
หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ( ม.8 ว.5 )
การออกคำสั่งหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว
การดำเนินการตามมาตรา 8 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา และได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี มีอำนาจ ออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำ เป็นการชั่วคราว ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ โดยให้มีอำนาจออกคำสั่งใดๆ ได้เท่าที่จำเป็นและสมควร ซึ่งรวมถึงการให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์การให้ผู้กระทำความชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นตามสมควรแก่ฐานะ การออกคำสั่งห้ามผู้กระทำเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้ตัวบุคคลใดในครอบครัว ตลอดจนการกำหนดวิธีการดูแลบุตร
( ม.10 ว.1)
การเสนอมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ต่อศาลเพื่อสั่ง
กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันออกคำสั่ง หากศาลเห็นชอบให้คำสั่งดังกล่าวมีผลต่อไป ( ม.10 ว.2 )
ในกรณีที่ศาลไม่เห็นชอบด้วยทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งโดยพลัน ( ม.10 ว.3 )
หากข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เพียงพอแก่การวินิจฉัยออกคำสั่ง ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคำสั่งหรือออกคำสั่งใดๆ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมก็ได้ ( ม.10 ว.4 )
ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งเป็นหนังสือขอให้ศาลทบทวนคำสั่งได้ภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นที่สุด (ม.10ว.5)
อำนาจศาลในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์
ระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามมาตรา 10 หรือออกคำสั่งใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
กรณีที่เหตุการณ์หรือพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง หรือ เพิกถอน คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ หรือคำสั่งใด ๆ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมก็ได้ ( ม.11 )
การกำหนดเงื่อนไขก่อนการยอมความ ถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้อง
กรณีที่มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องในความผิดตามม. 4 ให้พนักงานสอบสวน หรือ ศาล แล้วแต่กรณี จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น ก่อน การยอมความการถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องนั้น และกำหนดให้นำวิธีการตามวรรคหนึ่งเป็นเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามบันทึกข้อ ตกลงดังกล่าวโดยอนุโลม
ทั้งนี้ อาจรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวประกอบด้วยก็ได้
หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จึงให้มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องในความผิดตามมาตรา 4 ได้
ถ้าผู้ต้องหา หรือจำเลยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวน หรือศาลมี อำนาจยกคดี ขึ้นดำเนิน การต่อไป
หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา หรือ รัฐมนตรี ประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี ( ม.12 ว.2 และ ว.3 )
การจัดระบบงานสนับสนุนการดำเนินงาน
ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดให้มีระบบงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และการบังคับให้เป็นไปตามมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 โดยกำหนดในกฎกระทรวง ( ม.13 )
วิธีพิจารณา การยื่น และรับฟังพยานหลักฐาน
วิธีพิจารณา การยื่น และการรับฟังพยานหลักฐาน หากพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมาใช้บังคับโดยอนุโลม ( ม.14 )
มาตรการพิเศษเรื่องเปรียบเทียบและยอมความ
ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย
-
(1) การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
- (2) การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชายและหญิงที่สมัครใจเข้ามาอยู่กินฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ
- (3) การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่สมาชิกที่เป็นผู้เยาว์
- (4) มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสามีภริยาและบุคคลในครอบครัวให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับบุตร ( ม.15 )
การตั้งผู้ประนีประนอมหรือผู้ช่วยเหลือไกล่เกลี่ย
เพื่อประโยชน์ในการยอมความในคดี พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาล แล้วแต่กรณี อาจตั้งผู้ประนีประนอม ประกอบด้วยบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นบิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความหรือบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศาลเห็นสมควรเพื่อให้คำปรึกษา หรือช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกัน หรืออาจมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกันก็ได้
( ม.16 ว.1 )
การรายงานผลการไกล่เกลี่ยและการทำสัญญายอมความ
เมื่อผู้ประนีประนอมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้ว ให้รายงานผลการไกล่เกลี่ยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้วแต่กรณีด้วย กรณีที่การไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จ บุคคลดังกล่าวจะจัดให้มีการทำสัญญายอมความขึ้นหรือจะขอให้เรียกคู่ความมาทำสัญญายอมความกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศาลก็ได้ ( ม.16 ว.2 )
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นว่าสัญญายอมความไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญายอมความนั้น ( ม.16 ว.3 )
การจัดทำรายงานประจำปี
ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำรายงานประจำปีแสดง จำนวนคดี การกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาล และจำนวนการยอมความ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง ( ม.17 )
การรักษาการตามพ.ร.บ. อำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ การออกกฎและระเบียบ
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ (ม.18)