แล้วแต่...พายุสุริยะ...จะเป็นใจ



        ระยะนี้อากาศดูแปรปรวนจนเราไม่อาจแน่ใจกันว่า ประเทศเรามีกี่ฤดูกาลกันแน่ บางวันในช่วงเวลาปกติที่ควรเป็นฤดูหนาวกลับมีฝนตก และฤดูกาลอันผันผวนทำให้พวกเราต้องพบกับสภาวะอากาศที่ร้อน... ร้อนมาก... ถึงร้อนที่สุด... ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากปรากฏการณ์ "พายุสุริยะ" ก็เป็นได้

        ขอสารภาพว่า ผู้เขียนไม่เคยรู้เรื่อง "พายุสุริยะ" หรือ "Solar storm" มาก่อนเลย ก็เคยได้ยินคนพูดถึงมาบ้างแต่ไม่รู้ว่าคืออะไรพอได้ยินชื่อยังชมเลยว่า... ชื่อเพราะดี... แล้วก็หมดความสนใจไป... แต่ช่วงนี้รู้สึกได้ยินบ่อยเกินจึงต้องมาหาข้อมูลใส่สมองตัวเองหน่อย... ด้วยการเข้าไปถามผู้รู้อย่างGoogle… เมื่อพิมพ์คำว่า "พายุสุริยะคืออะไร" ลงไปก็มีผลการค้นหาแสดงขึ้นมา 158,000 รายการภายในเวลา 0.27นาที...

        ผู้เขียนเลือกคลิกเมาส์ไปที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย(TheThai Astronomical Society) http://thaiastro.nectec.or.th จึงได้พบกับหัวข้อที่กำลังจดจ่ออยู่พอดี "เรื่องจริงของพายุสุริยะ"… อ่านๆและอ่านและจึงได้พบว่า ข้าพเจ้านี่ช่างด้อยความรู้รอบตัวด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์เสียจริงๆ... เขาเขียนเข้าใจง่ายนะ... แต่เราเบาปัญญาเองจึงเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง... เอาเป็นว่าจะพยายามเขียนเล่าตามที่เข้าใจนะ... ถ้าผิดพลาดก็บอกกันได้และขออภัยด้วยละกัน

        "พายุสุริยะ" หรือ "Solar storm" คือ ลมสุริยะ (solar wind) ที่ทวีความรุนแรงกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งลมสุริยะ (solar wind) ก็คือสายธารของอนุภาคที่ถูกพัดมาจากดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง อนุภาคพลังงานสูงที่ถูกพัดมาจากดวงอาทิตย์ อยู่ในรูปของอนุภาคประจุไฟฟ้า เช่น อิเล็กตรอนและโปรตอน… ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีค่ะ...

        เลยลองกลับไปพึ่ง Google อีก... คราวนี้ไปที่วิชาการ.คอม http://www.vcharkarn.com เขาอธิบายเป็นวิดีโอในYouTube โดยศาสตราจารย์ ดร.เดวิด รูฟโฟโล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขนาดเขาบอกว่าเข้าใจง่าย... ผู้เขียนยังกดเล่นซ้ำเพื่อฟังแล้วฟังอีกอยู่หลายรอบ...

        จากทั้งสองเว็บไซด์ทำให้พอเข้าใจได้ว่า การเกิดลมสุริยะ(solar wind) นั้นเป็นเรื่องปกติเพราะเหนือบรรยากาศโลกขึ้นไปในอวกาศ รวมถึงบริเวณระบบสุริยะชั้นใน ถูกปกคลุมไปด้วยอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ หรือกล่าวได้ว่า ในบริเวณรัศมี 150 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ที่โลกโคจรอยู่นี้ยังอยู่ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ แต่การเกิดพายุสุริยะนั้นเป็นเรื่องกะทันหัน การจะเกิดบ่อยหรือไม่บ่อยจะขึ้นอยู่กับจุดมืด(sun spots) บางครั้งก็เกิดทุกวันหรือบ่อยครั้งต่อวันด้วยนะ... แต่ที่รุนแรงมากๆ จะมีเพียงไม่กี่ครั้งต่อวัฏจักร 11 ปี(นักวิทยาศาสตร์ยังหาเหตุผลไม่ได้เลยว่าทำไมต้องทุก 11 ปี)... พายุสุริยะจะมีความเร็วและแรงกว่าลมสุริยะและก่อให้เกิดแสงที่สวยมากที่เรียกว่า แสงเหนือและแสงใต้(Aurora)... (ชอบชื่อนี้จัง)... เช่นที่ประเทศแคนาดา หรือหากพายุแรงมากเป็นพิเศษก็จะเห็นเลยมาจนถึงทางตอนใต้ของสหรัฐ... แต่เมืองไทยไม่มีทางได้เห็นเลย(เสียดายจัง)

        ผลกระทบของพายุสุริยะต่อโลกมนุษย์... เขาบอกว่าไม่เคยมีใครเจ็บและตายเพราะพายุสุริยะ... สิ่งที่จะได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะคือ การบิน ดาวเทียมและการสื่อสาร การผลิตกระแสไฟฟ้า นักบินอวกาศซึ่งถ้ายังอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กโลกก็จะปลอดภัย เพราะถ้าออกนอกสนามแม่เหล็กโลกก็เสี่ยงต่อการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีทำให้เป็นมะเร็งได้

        เราลองมาดูว่าพายุสุริยะเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างไร โดย พิมพ์คำว่า"พายุสุริยะและอากาศแปรปรวน"... ลงใน Google อีกครั้งท่องไปหลายเว็บจนประมวลได้ว่าพายุสุริยะ เกี่ยวข้องกับพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ส่งผ่านมายังโลก ซึ่งมีการส่งพลังงานมายังโลกสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่ช่วงมีปรากฏการณ์พายุสุริยะ ดวงอาทิตย์จะส่งพลังงานมายังโลกมากกว่าปกติ และ เมื่อมากระทบโลกแล้ว จะส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และ ส่งผลกระทบในเชิงธรณีวิทยาด้วย โดยปกติแล้วโลกจะมีเกราะป้องกันรังสีจากภายนอกโลกคือสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศของโลก แต่เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศของโลกนั้นมีความผิดปกติ โดยข้อมูลจากองค์การนาซายืนยันว่า ในปี 2551 พบรูรั่วของสนามแม่เหล็กโลกขนาดใหญ่กว่าที่คาดไว้และพบว่าชั้นบรรยากาศของโลกหดตัวลงมาก ซึ่งจะส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกแปรปรวน... นอกจากนี้ยังมีการศึกษาและและตั้งข้อสังเกตว่าก่อนการเกิดภัยพิบัติในประเทศต่างๆ ประมาณ1-3 วัน จะมีการระเบิดของดวงอาทิตย์หรือพายุสุริยะขึ้นก่อนแทบทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์เกิดคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ก็ตรวจพบดวงอาทิตย์มีการระเบิดอย่างรุนแรง ทำให้ "จุดดับ" บนดวงอาทิตย์เกิดการหดหรือขยายตัว จึงมีการตั้งข้อสังเกต หากจุดดับบนดวงอาทิตย์หดหรือขยายตัว จะสัมพันธ์กับการเกิด แผ่นดินไหวบนโลก?

        สุดท้ายนี้อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด... อะไรป้องกันกันได้ก็เร่งทำกันไป... แล้วแต่พายุสุริยะจะเป็นใจก็แล้วกันเพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าเขาจะเกิดมีน้ำโหระเบิดขึ้นมาเมื่อไร แถมเขามีสิทธิ์วีนเหวี่ยงได้ตลอดในช่วงปี 2012-2013 บางข้อมูลก็กล่าวว่าอาจจะถึงปี 2015 ซะด้วยสิ... เฮ้อ! เราคงต้องอดทนกับพายุอารมณ์ของท่าน สุริยะ ไปอีกนานทีเดียวค่ะ... แต่ขอฝากสิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็คือการ ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน เพื่อถนอมเกราะป้องกันรังสีและชั้นบรรยากาศของโลกเราไว้ให้อยู่ดูแลพวกเราและลูกหลานไปอีกนานแสนนานนะคะ

อ้างอิงและขอบคุณข้อมูล: เว็บไซด์สมาคมดาราศาสตร์ไทย (TheThai Astronomical Society) http://thaiastro.nectec.or.th : เว็บไซด์วิชาการ.คอม http://www.vicharkarn.com
เรื่อง/ภาพ : alexlivfc@hotmail.com