ทางออกและตราบาป

   

           เมื่อมีข่าวผู้หญิงทำแท้ง หรือคลอดแล้วทิ้งลูก คุณรู้สึกอย่างไร?... ใครคือคนที่ถูกประณามเป็นคนแรก?... ตอบไม่ยากเลยใช่ไหม...ถ้าอย่างนั้นเราลองมาตั้งคำถามกันใหม่... ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งเกิดท้องโตขึ้นมาโดยที่ไม่มีผู้ชายรับเป็นพ่อคุณรู้สึกอย่างไร?... ใครคือคนที่ถูกประณามเป็นคนแรก?... คำถามนี้ก็คงตอบไม่ยากเลยเช่นเดียวกัน... ถ้าเลือกทำแท้ง หรือทิ้งเด็กก็จะกลายเป็นแม่ใจโหด... แต่ถ้าปล่อยให้ท้องโตโดยไม่มีคนที่ร่วมมือในการกระทำด้วยมารับผิดชอบก็จะกลายเป็นสาวใจแตกท้องไม่มีพ่อ... ถ้าไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม... ท้องไม่มีพ่อก็ไม่ดี... ทำแท้งเพื่อให้ไม่ท้องก็ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย... แล้วจะมีทางออกอย่างไร... ปัญหาพวกนี้ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับสังคมไทย...ไม่ว่าจะถกเถียงกันเท่าใด... ก็ยังคงไม่พบหนทางในการจัดการกับปัญหา... ผู้หญิงยังคงต้องหาทางออกให้กับตัวเองในแบบเดิมๆนั่นคือ คิดถึงการทำแท้งเป็นอย่างแรกหากท้องไม่พร้อม ส่วนเรื่องที่ต่อมาจะทำหรือไม่ทำ ทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง... อย่างเช่น สิรี... หญิงวัยกลางคนในวันนี้ที่ผ่านร้อนและหนาวมาหลากหลาย...การตัดสินใจทำแท้งของเธอในวันนั้นยังคงตามหลอกหลอนเธอจนวันนี้  

        สิรีเกิดมาจากครอบครัวที่แตกแยก พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้หนึ่งเดือน แล้วพ่อกับแม่ก็ต่างมีครอบครัวใหม่ สิรีอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงแรกๆพ่อเลี้ยงรักและดูแลสิรีอย่างดี แต่พอมีน้องเกิดมาพ่อเลี้ยงก็แทบจะไม่สนใจสิรีเลยแถมยังเหมือนจะเกลียดด้วยซ้ำ พ่อเลี้ยงของสิรีมักเมาเหล้าและทุบตีแม่บ่อยครั้ง สิรีเรียนจบม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะต้องออกมาทำงาน เนื่องจากพ่อเลี้ยงมักบ่นว่าๆสิรีเป็นภาระของครอบครัว ด้วยอายุยังน้อยสิรีจึงได้งานทำเป็นเพียงพนักงานเสิร์ฟ ที่ได้รายได้เพียง 50 บาทต่อวันเท่านั้น แต่สิรีก็ต้องทำ และมันได้ชักพาให้สิรีได้รู้จักกับผู้ชายอายุคราวพ่อที่เป็นเจ้าของร้านที่สิรีทำงานอยู่ เขามาชอบพอสิรีและพยายามติดต่อผ่านทางญาติเพื่อให้ได้สิรีมาเป็นหนึ่งในจำนวนเมียน้อยของตนเอง ช่วงแรกสิรีไม่สนใจเพราะเขามีครอบครัวแล้ว แต่ด้วยความเป็นเด็กและความยากจนสิรีจึงยินยอมตกเป็นของเขา เวลาที่มีอะไรกันสิรีไม่เคยป้องกันเลยเพราะเขาบอกว่าเป็นหมัน แต่ไม่นานสิรีก็ตั้งครรภ์ ซึ่งแน่นอนว่าเขาย่อมต้องไม่เชื่อว่าเป็นลูกของเขา สิรีรู้สึกโกรธและน้อยใจเขาอย่างมากเพราะตัวเธอเองเป็นสาวบริสุทธิ์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวมีอะไรกับใครมาก่อนเลย สิรีไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ดี แค่ที่ต้องเป็นเมียน้อยแย่งชิงสามีมาจากคนอื่นเขาก็แย่อยู่แล้วเธอยังมาท้องไม่มีพ่ออีก และหากคลอดลูกออกมาเธอจะมีปัญญาเลี้ยงดูเขาได้อย่างไร... สิรีตกอยู่ในภาวะเครียดทั้งอายคนในชุมชนและกลัวกับอนาคตข้างหน้า เพื่อนได้แนะนำให้สิรีไปทำแท้งที่คลินิกทำแท้งเถื่อนแห่งหนึ่ง ตอนที่เข้าไปทำเขาบอกให้ขึ้นขาหยั่ง เอาเหล็กสอดเข้าไปปั่นออก ใช้เวลา 5 -10 นาที เสร็จแล้วให้ใส่ผ้าอนามัยกลับบ้าน ค่าทำเกินครึ่งหมื่นไปนิดหน่อย ความรู้สึกหลังทำแท้ง สิรีรู้สึกเสียใจมากคิดว่าไม่น่าทำเลย สิรีฝันร้ายและนอนไม่หลับอยู่เป็นเวลานาน ความรู้สึกผิดบาปมันเกาะกินใจสิรีอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นไม่นานสิรีได้มาทำงานโรงงานแห่งหนึ่งแต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสิรีกลับป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีทางรักษาหาย ต้องออกจากงานเพราะแพทย์แจ้งว่าเกิดอาการแพ้สารเคมีที่โรงงาน,แรกๆสิรีมีอาการหัวลอก ตอนแรกออกที่หัว ต่อมาออกที่มือ เป็นผื่นตามตัว แพทย์วินิจฉัยว่าสิรีเป็นโรคสะเก็ดเงิน

         พอล่วงเข้าสู่วัยเบญจเพสแม่ของสิรีถูกรถชนเสียชีวิต สิรีจึงเหมือนว่าวที่สายป่านขาดและหลุดลอยเธอเหมือนไร้ที่พึ่ง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวสิรีละเลยการทานยาและการหาหมออาการของสิรีกำเริบอย่างหนักผิวหนังทุกส่วนทุกพื้นที่ของร่างกายเธอมีตุ่มขึ้น และลอกแตกมีน้ำใสๆ ไหลเยิ้มและเป็นแผลเฟอะ ไม่เว้นกระทั่งหนังศีรษะ พอแห้งก็ลอกลึกจนเห็นเป็นผิวแดงๆสิรีทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าสิรีจะรักษาอย่างไรก็ไม่หายขาด พออาการดีขึ้นสักพักเดี๋ยวก็กลับมาเป็นอย่างเดิมอีก... สิรีเฝ้าโทษว่าเป็นเวรกรรมของตนที่เกิดจากการแย่งสามีของคนอื่นและที่สำคัญคือการทำแท้ง ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถลบล้างความรู้สึกผิดบาปนั้นได้ ไม่ว่าเธอจะไปบวช ไปปฏิบัติธรรม ไปทำบุญ สวดมนต์ ก็เพียงแค่สบายใจเพียงชั่วแวบเดียวเท่านั้น ไม่รู้ว่าสิรีต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดนี้อีกนานเท่าไร... อาจจะชั่วชีวิตของสิรีก็เป็นได้และยิ่งสิรีมีความเครียดกังวลก็จะส่งผลกับโรคของเธอทันทีคล้ายกับว่ามันกินความเครียดเป็นอาหาร... สิรีพยายามหาเลี้ยงตัวเองโดยการรับจ้างทั่วไปรายได้ที่พอจะมีก็หมดไปกับการรักษาตัวเอง ไม่นานก็เหมือนผีซ้ำด้ำพลอยอีกบ้านที่สิรีเคยอยู่ซึ่งเป็นเพิงริมคลองถูกรื้อเธอจึงกลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีงาน ไม่มีญาติ มีน้องต่างบิดาแต่เขาก็รังเกียจ สิรีจึงเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉิน

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org

Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org