พลอย



          บ้านพักฉุกเฉินได้ให้การดูแลและช่วยเหลือเด็กมากมายหลายวัยมาจำนวนนับไม่ถ้วน เด็กจำนวนหนึ่งได้กลับสู่ครอบครัวเมื่อครอบครัวพร้อม แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ว่าจะนานเท่าใดครอบครัวก็ไม่เคยพร้อม... เด็กที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ไม่ว่าคนที่ได้ชื่อว่าแม่หรือผู้ปกครองจะจับวางไว้ที่ใดก็ได้ ดูไปคล้ายสิ่งของที่แล้วแต่ใครจะจับวาง ถ้าวางในที่ๆ ดีก็ดีไปแต่ถ้าตกสู่ที่ทางอันเลวร้ายก็ไม่พ้นเป็นสิ่งของไร้ค่าชิ้นหนึ่งเท่านั้น... ในจำนวนนั้นมีเด็กอยู่หนึ่งรายที่แม่ของเธอมักจะจับเธอไปวางในที่ต่างๆ ตามแต่ว่าจะเร่ร่อนไปที่ใด... จนกระทั่งแม่ของเธอไม่พร้อมอีกต่อไปเพราะแม่ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคเอดส์ และเด็กผู้หญิงคนนี้เป็นเด็กคนหนึ่งที่เราจะไม่ลืมเธอเพราะเธอมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอที่ทำให้เราประทับใจเสมอนั่นคือ เมื่อพบเจอผู้ใหญ่หรือแขกที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้านพักฉุกเฉินเธอจะเป็นเด็กคนแรกที่รีบยกมือไหว้พร้อมส่งรอยยิ้ม และกล่าวทักทายเราว่า "สวัสดีค่ะ"...เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้มีชื่อว่า "พลอย"

          พลอยเข้ามาพบกับพวกเราในปี 2552 ตอนนั้นเธออายุเพียง 4 ขวบ พลอยเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ หน้ากลมๆดวงตาบ๊องแบ๊วใสซื่อ พลอยมีพัฒนาการที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเด็กๆ ในวัยเดียวกัน... พลอยมาที่บ้านพักฉุกเฉินด้วยปัญหาของแม่... แม่ป่วยทางจิต-ติดยาเสพติด-วัณโรคปอดและติดเชื้อเอชไอวี... คนที่พาพลอยและแม่มาคือยายเลี้ยงซึ่งเป็นหญิงชราคนหนึ่งที่รับเลี้ยงแม่ของพลอยมาตั้งแต่เล็กๆ... ระหว่างที่เราพูดคุยสอบถามประวัติความเป็นมากับยายเลี้ยง พลอยก็หันมองคนโน้นทีคนนี้ทีแบบงงๆ... ยายเลี้ยงได้เล่าว่า แม่ของพลอยเป็นเด็กกำพร้าจึงได้รับเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายตอนเด็กๆ แม่ของพลอยเรียนไม่เก่งต้องซ้ำชั้นอยู่หลายครั้งจึงออกจากโรงเรียนทั้งที่ยังอ่าน-เขียนหนังสือไม่ได้ เมื่อย่างเข้าช่วงวัยรุ่นก็หนีออกจากบ้านตามผู้ชายไปหลายปีเมื่อเลิกรากันก็กลับมาอยู่บ้าน ไม่นานก็ได้คบหามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคนและอาศัยอยู่ที่บ้านแบบไปๆ มาๆ เพราะเธอมักออกไปเร่ร่อนไม่เคยอยู่ที่ไหนเป็นหลักแหล่ง บางครั้งก็อาศัยนอนตามสะพานลอยตามป้ายรถเมล์ หรือตามสวนสาธารณะต่างๆ เธอไม่มีอาชีพ แต่เธอจะหารายได้โดยการขายบริการทางเพศ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุประมาณ 30 ปี เธอ จึงได้ให้กำเนิดพลอยขึ้นมา... แม่ได้พาพลอยกลับมาให้ยายเลี้ยงช่วยดูแลโชคยังดีที่พลอยไม่ติดโรคร้ายจากแม่ทั้งที่แม่ไม่ได้กินยาต้านไวรัสตอนท้อง หลังจากนั้น 2-3 ปีแม่ของพลอยก็มีอาการทางจิต ยายเลี้ยงจึงได้พาแม่ของพลอยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งหนึ่งแต่ก็รักษาไม่ต่อเนื่อง เพราะแม่มักหนีออกจากบ้านไปเร่ร่อนอยู่เสมอซ้ำร้ายแม่มักแอบมาพาตัวพลอยออกไปเร่ร่อนด้วย... ยายเลี้ยงจึงได้ส่งแม่เข้ารับการสงเคราะห์ที่สถานสงเคราะห์ของรัฐสำหรับผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตแต่แม่ก็ยังหนีออกมาเร่ร่อนอีก... ยายเลี้ยงจนหนทางจึงได้พาพลอยมาขอความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงกลัวว่าพลอยจะต้องใช้ชีวิตร่อนเร่เป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อนค่ำไหนนอนนั่นเหมือนแม่ไปอีกคน

         หลังจากพลอยมาอยู่บ้านพักฉุกเฉิน แม่ก็ยังคงเร่ร่อน อยู่บ้านยายเลี้ยงบ้าง ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้บ้าง แต่ยังคงพยายามมาเยี่ยมพลอยอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งแม่ก็มาพร้อมกับกลิ่นเหล้า บุหรี่ เนื้อตัวที่สกปรกมอมแมม หนักกว่านั้นแม่ยังพูดคุยไม่รู้เรื่องเลยก็มี... แต่แม่ก็มาหาพลอยอยู่เสมอ... จวบจนกระทั่งช่วงปลายปี 2553 แม่ได้เงียบหายไป และเราได้มาทราบข่าวว่าแม่ของพลอยมีอาการเข้าขั้นผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายและเสียชีวิตในที่สุด ณ สถานสงเคราะห์ผู้ป่วยเอช ไอ วี ที่ต่างจังหวัด... ยายเลี้ยงได้พาพลอยไปส่งแม่เป็นครั้งสุดท้าย... เมื่อพลอยไม่มีผู้ปกครอง และยายเลี้ยงก็ไม่สามารถรับภาระดูแลพลอยได้ ด้วยยายเลี้ยงนั้นสูงอายุแล้วรวมทั้งมีโรคประจำตัว... ยายเลี้ยงจึงขอให้บ้านพักฉุกเฉินช่วยเหลือพลอยโดยส่งเข้าสถานสงเคราะห์ที่ช่วยเรื่องการเรียนพร้อมกับอยู่ใกล้บ้านยายเลี้ยงเพื่อสะดวกในการเดินทางไปเยี่ยม และดูแลพลอยได้เมื่อมีโอกาสเพราะพลอยไม่เหลือใครในชีวิตอีกแล้วนอกจากยายเลี้ยงคนนี้ที่พยายามช่วยเหลือดูแลกันมาแม้ไม่ใช่ยายหลานที่แท้จริง... บ้านพักฉุกเฉินจึงได้ส่งพลอยไปเข้ารับการสงเคราะห์ด้านที่พักและการศึกษาต่อยังองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของยายเลี้ยงตามความประสงค์ดังกล่าว... ในวันที่เราไปส่งพลอยเข้าสู่สถานที่ใหม่พลอยอายุได้ 6 ขวบเราบอกพลอยว่า... เราส่งพลอยไปเพื่อให้พลอยได้เรียนหนังสือ... เพราะเรารักพลอย... พลอยก็ยอมไปกับเราโดยดีเพราะพลอยพูดเสมอว่าอยากไปโรงเรียน เมื่ออยู่ระหว่างการนั่งรอรับตัวเข้าที่ใหม่... คนไปส่งก็ไม่ง่ายเลยที่จะทำใจส่งเด็กที่เราดูแลและผูกพันให้กับคนอื่น แม้จะมีจรรยาบรรณระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้รับบริการกั้นกลางอยู่แต่เราก็ยังคงเป็นเพียงคนๆ คนหนึ่ง... และคงไม่ง่ายเลยเช่นเดียวกันสำหรับพลอยที่จะต้องไปจากคนและสถานที่ๆคุ้นเคยมาหลายปี... พลอยจึงเอ่ยถามกับเรา... พร้อมทั้งชี้ไปที่ซองเอกสารของเราว่า "อันนี้พี่เอากลับไหม?" เราตอบเธอว่า "เอากลับค่ะ"

         เธอชี้ไปที่กระเป๋าของเราแล้วถามคำถามเดิมว่า "แล้วอันนี้ล่ะ...เอากลับไหม?"

         เราก็ตอบเธออีกว่า "เอากลับค่ะ"

         เธอยังคงถามต่อเหมือนเดิมแต่เธอชี้ไปที่ตัวเธอเองว่า "แล้วหนูล่ะ...พี่เอากลับไหม?"

         เราเหมือนหูดับและพูดไม่เป็นไปหลายนาทีเพื่อตั้งสติและกลั้นน้ำตา... แต่การทำหน้าที่ก็ต้องดำเนินต่อไปด้วยการฝืนใจบอกความจริงที่ทำร้ายจิตใจผู้ฟังว่า "ไม่" เมื่อคำปฏิเสธหลุดออกไป พลอย หน้าเสียเบะปากและมีน้ำตาคลอที่ดวงตาแต่พลอยก็กลั้นมันไว้เช่นกันเมื่อเราได้อธิบายเหตุผลกับเธอว่า "เพื่อให้พลอยได้เรียนหนังสือ... และเพื่อยายจะได้มาเยี่ยมพลอยได้สะดวก... ยายจะมาได้บ่อยๆ... พลอยอยากเจอยายและอยากเรียนหนังสือใช่ไหมคะ" พลอยพยักหน้าเข้าใจและเมื่อเราส่งพลอยให้กับพี่เลี้ยงคนใหม่พลอยก็ไม่ร้องไห้ มีเพียงสายตาและคำถามของพลอยเท่านั้นที่ยังคงติดตามเรามาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเราติดตามผล ทราบว่าพลอยปรับตัวได้ดีในเวลาไม่ถึงอาทิตย์... ในวันนี้พลอยมีความสุขดีกับสถานที่ใหม่... และยายเลี้ยงก็ยังคงไปมาหาสู่พลอยอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสยายเลี้ยงก็จะมารับพลอยไปค้างที่บ้านบ้างเป็นครั้งคราว... พลอยทำให้เราสะท้อนในใจเมื่อพลอยเอาตัวเองไปเปรียบกับสิ่งของทั้งที่พลอยเป็นเด็กคนหนึ่ง พลอยมีหัวใจมีความรู้สึกและก็ต้องการความรัก... อย่างไรก็ตามเราก็เชื่อมั่นได้ว่าเราได้วาง พลอย ไว้ ณ สถานที่ๆดีและปลอดภัยและเหมาะสมกับพลอยแล้ว

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org

Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org