โครงการดนตรีบำบัด ผ่าน กิจกรรม " ดนตรี + กวี + ศิลปะ = อิสรภาพ "
" ดนตรี + กวี + ศิลปะ = อิสรภาพ "เป็นกิจกรรมหนึ่งของบ้านพักฉุกเฉินที่ก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 ด้วยแนวคิดในการนำดนตรีเข้ามาช่วยฟื้นฟูและพัฒนาทั้งด้านสังคม อารมณ์ ร่างกาย และจิตใจของสมาชิกในบ้านพักฉุกเฉิน หรือที่เราเรียกกันว่า ดนตรีบำบัด (Music Therapy) นั่นเอง... โดยปกติแล้วการบำบัดต่างๆ นั้นมักจะใช้กับคนป่วย คนที่ต้องเข้ารับการรักษาแต่สำหรับกิจกรรม " ดนตรี + กวี + ศิลปะ = อิสรภาพ " สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นความท้าทายจะอยู่ที่ ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม "ดนตรี" ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองนั้นกำลังอยู่ในกระบวนการ "บำบัด" หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งลักษณะของการดำเนินกิจกรรมจะเป็นการกล่อมเกลาจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทางดนตรี โดยจะมุ่งเน้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยใช้องค์ประกอบของดนตรีอย่างสร้างสรรค์ทั้งการฟัง การเล่นเครื่องดนตรี การขับร้องเดี่ยว การขับร้องหมู่ การขับร้องประสานเสียง การแสดงดนตรี การแสดงละคร รวมถึงการสร้างงานศิลปะแขนงอื่นๆ นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดสำหรับเด็กและเยาวชนที่บ้านพักฉุกเฉินนั้น ยังรับเอาแนวคิดต้นแบบมาจาก โครงการปฏิบัติการสร้างสรรค์คนดนตรี TK Band โดยการนำของครูใหญ่คือ คุณศุ บุญเลี้ยง ซึ่งเป็นศิลปินผู้มุ่งเน้นวิธีการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเพลงทั้งหมด จากจุดเริ่มต้น คือ การค้นหาแรงบันดาลใจทั้งจากภายในตนเอง และจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว การฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างงานเพลง ทั้งการสร้างทำนอง แต่งคำร้อง การเรียบเรียง การฝึกซ้อมเพื่อแสดง ฯลฯ จนนำไปสู่ผลผลิตสุดท้ายคือผลงานเพลงในรูปของอัลบั้ม ที่พร้อมจะนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนใฝ่ฝัน อย่างเป็นระบบ และอย่างที่เป็นจริงในโลกของวิชาชีพทางดนตรี
ส่วนแนวคิดในการแต่งเพลงเพื่อใช้ในกิจกรรมนั้น เกิดขึ้นมาจากการที่ช่วงก่อนหน้านี้ คุณเรียวจันทร์ ผลอนันต์ วิทยากรผู้ดำเนินกิจกรรมเองได้มีโอกาสร่วมทำงานในการแต่งเพลงประกอบรายการทุ่งแสงตะวัน ซึ่งเป็นรายการที่มุ่งเน้นนำเสนอสาระความรู้ผ่านธรรมชาติของวัยเด็ก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนเพลง "ของเด็กๆ โดยเด็กๆ เพื่อเด็กๆ" เพราะพื้นที่ของบทเพลงที่เขียนเพื่อเด็กอย่างแท้จริงนั้นยังขยายได้อีกมาก ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เชิงกว้างคือมิติของเนื้อหา เนื้อเรื่องที่จะบอกเล่า ทำอย่างไรที่เราจะช่วยให้เด็กๆได้ร้องเพลงที่มีเรื่องราวของพวกเขาเอง สามารถตอบโจทย์ทางอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาได้ มีตรรกะสมวัยของเขา
กระบวนการเรียนรู้
กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยใช้เสียงดนตรีมาผสมผสานกับศาสตร์และศิลป์แขนงอื่นๆ เช่น การอ่าน การเขียน การแต่งกลอน แต่งนิทาน แต่งบทละคร การฝึกเล่าเรื่อง ศิลปะการแสดง ศิลปะในการถ่ายภาพ ศิลปะในการแต่งกาย ศิลปะประดิษฐ์ กิจกรรมชมภาพยนตร์ กิจกรรมปลูกต้นไม้ กิจกรรมชมละครเวที ฯลฯ รวมทั้งการพูดคุยในหัวข้อเรื่องที่เด็กๆ และเยาวชนให้ความสนใจ เช่น ความรู้เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ ความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ ความรู้เกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท ความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการป้องกัน เป็นต้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม เปิดโอกาสให้เด็กๆ และเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้พัฒนาและแผ่ขยายขีดความสามารถด้านต่างๆ ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อหล่อหลอมให้เกิดความใฝ่รู้อยู่เสมออย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่หรือเวลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การค้นพบอิสรภาพแห่งการใช้ชีวิตในท้ายที่สุด นอกจากนี้บรรยากาศในการเรียนรู้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญ เพราะดนตรีสำหรับเด็กๆ นั้นหากเป็นการบังคับก็ไม่สนุกและไม่ดึงดูดใจอีกต่อไป
กระบวนการในการจัดกิจกรรม
สำหรับกระบวนการทำอัลบั้ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ มีประสบการณ์ตรงในการทำงานเพลง มีแผนการดำเนินงานดังนี้
1. ให้เด็กๆ ฝึกขับร้องเพลงต้นแบบ (demo)
2. ให้เด็กๆ ได้ฝึกการเล่นเครื่องดนตรีบางชิ้นตามความสนใจ เช่น คีย์บอร์ด กีตาร์ ขลุ่ย
3. ประสานงานกับห้องบันทึกเสียง เพื่อเรียบเรียงบทเพลง
4. บันทึกเสียงเครื่องดนตรี บันทึกเสียงร้อง
5. มิกซ์เสียงร้องและเครื่องดนตรี
6. ห้องบันทึกเสียงทำ mastering
7. เด็กๆ ระดมสมองช่วยกันสรุปชื่ออัลบั้ม ออกแบบปก, แพ็กเกจ อัลบั้ม
8. เตรียมข้อมูล/ถ่ายภาพที่จะพิมพ์ลงในปกอัลบั้ม ลงมือทำ artwork
9. แผ่น master เสร็จ ปั๊มแผ่น พิมพ์ปกอัลบั้ม
10. อัลบั้มเสร็จสมบูรณ์
เนื้อหากิจกรรม : เดือน กันยายน ตุลาคม 2554*
1.ฝึกซ้อมร้องเพลง
1) เพลง รักนะ...น้องหมา น้องแมว
2) เพลง ผู้หญิง...เก่ง
3) เพลง Paint it Green
4) เพลง Let's Save Our World
5) เพลง หนองน้ำ ห้วย บึง ลำธาร
6) เพลง บ้านพักสุขสันต์
7) เพลง อธิษฐาน
8) เพลง ดอกไม้ (จิระนันท์ พิตรปรีชา)
9) เพลง ความรัก และ สันติภาพ
10) เพลง นางฟ้า
2.ฝึกซ้อมเครื่องดนตรี
1) คีย์บอร์ด
2) กีตาร์
3) Harmonica
4) ขลุ่ยเพียงออ
5) ขลุ่ยหลิบ
(* เดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2554 ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย)
3.กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และกิจกรรมชมภาพยนตร์ อ่านหนังสือ เช่น หนังสือและสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆ เนื้อเพลง โน้ตเพลง คอร์ด และทฤษฎีดนตรี หนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม นิทานทั่วไป และหนังสือประเภทสารานุกรมความรู้รอบตัว
ชมภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง A Little Princess, Mulan, Barbie : Swan Lake, เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์, โดราเอมอน เป็นต้น
4.กิจกรรม "วันปลูกต้นไม้"
ตอน...ปลูกต้นไม้ใส่กระป๋อง วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554
5.กิจกรรม For You We Sing
สมาชิกคณะนักร้องประสานเสียงวัยซน-วัยใส ได้ร่วมกันขับร้องบทเพลงในงานเลี้ยงอาหารค่ำ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2554 ณ ห้องบุญเกื้อ กิ่งแก้ว อาคารนารินทร์กรุณา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
6.กิจกรรมชมละครเวที เรื่อง "พระอาทิตย์ในมือผม" แสดงโดยเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2554 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเชีย (เอไอที) จ.ปทุมธานี
โดยมีสมาชิกคณะนักร้องวัยใสและกลุ่มคุณแม่วัยใสเข้าร่วมกิจกรรมรวม 10 คน
7.กิจกรรมอื่นๆ
1) ฝึกเขียนเนื้อเพลง /โน้ตเพลง
2) ฝึกเขียนจดหมาย /คำอวยพร
3) ฝึกพับกระดาษแบบต่างๆ
4) ฝึกออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง
5) ฝึกถ่ายภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว
กลุ่มเป้าหมาย
คณะนักร้อง & นักดนตรี "วัยซน"และ"วัยใส"
- วัยซน ที่ไปโรงเรียน จันทร์-ศุกร์ อายุ 5-8ปี จำนวน 8 ราย
- วัยซน ที่ยังไม่ได้ไปโรงเรียน จำนวน 3 ราย อายุ 4,8 และ12 ปี
- วัยใส อายุ 10-16 ปี จำนวน 8 ราย
ตารางกิจกรรมเดือน กันยายน – ตุลาคม 2011
วัน |
เวลา 13.00 น.- 16.00 น. |
พัก
16.00 - 16.30 |
เวลา 16.30 น.- 18.30 น.
(ทดเวลาทำการบ้าน) |
จันทร์ |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยซน ที่ไม่ได้ไป ร.ร. ) |
กินข้าวเย็น
+ ทำการบ้าน |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยซน ที่ไป ร.ร. ) |
อังคาร |
ละเลงศิลป์ – จินตกวี
(วัยซน ที่ไม่ได้ไป ร.ร. ) |
กินข้าวเย็น
+ ทำการบ้าน |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยซน ที่ไป ร.ร. ) |
พุธ |
|
กินข้าวเย็น
+ ทำการบ้าน |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยใส) |
พฤหัสบดี |
ดูหนัง ฟังนิทาน สร้างแรงบันดาลใจ
(วัยซน ที่ไม่ได้ไป ร.ร. ) |
กินข้าวเย็น
+ ทำการบ้าน |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยใส) |
ศุกร์ |
|
|
|
เสาร์ |
|
|
|
อาทิตย์ |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยซน รวมทั้งสองกลุ่ม) |
กินข้าวเย็น
+ ทำการบ้าน |
ร้อง - เล่น - เป็นเพลง
(วัยใส) |
จากการดำเนินกิจกรรมจนถึงสิ้นปี 2554 นั้น มีบทเพลงที่เด็กๆและเยาวชนได้ร่วมกันบันทึกเสียงเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 2 เพลง คือ เพลง "ผู้หญิง...เก่ง" (ขับร้องหมู่) และ เพลง "รักนะ...น้องหมา น้องแมว" โดยการสนับสนุนของ ผู้ใหญ่ใจดี คือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ ที่ได้เอื้อเฟื้อบุคลากรและห้องบันทึกเสียง โดยเรืออากาศตรีบรรจง แก้วคำ เป็นผู้เรียบเรียงและบันทึกเสียงทั้งสองบทเพลง ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนปี 2554 ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการนำร่อง ที่ทำให้เกิดการสานต่อกิจกรรมดนตรีอย่างต่อเนื่องในช่วงต่อๆ มา
กระบวนการถัดจากนี้ (มกราคม 2555 เป็นต้นไป) จะอยู่ในขั้นตอนที่ 1 3 โดยเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมสำหรับการบันทึกเสียงบทเพลงอื่นๆ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการขั้นตอนที่ 4 โดยสามารถนำเด็กและเยาวชนไปห้องบันทึกเสียงอีกครั้งในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปี 2555 ที่จะถึงนี้ โดยยังมีบทเพลงที่ต้องเรียบเรียงและบันทึกเสียงใหม่อีกรวม 8 เพลง
ผลที่ได้รับ
อาจกล่าวได้ว่า เสียงดนตรีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากการฝึกหัดร้องเพลง ฝึกเล่นเครื่องดนตรี หรือเสียงดนตรีที่ผ่านการบันทึกเสียงก็ตาม ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมของกิจกรรมเองอยู่แล้ว นอกจากนี้เมื่อเด็กๆ และเยาวชนได้พัฒนาทักษะทางดนตรีให้เพิ่มมากขึ้น ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะและประสาทสัมผัสด้านต่างๆ อีกมากมาย ดังนี้
- ทักษะทางกาย เช่น การเปล่งเสียง การรับรู้เรื่องจังหวะ การฝึกใช้นิ้วมือกดโน้ตบนคีย์บอร์ด การฝึกเป่าขลุ่ย การฝึกซ้อมท่าเต้นประกอบเพลง
- ทักษะในการใช้ภาษา เช่น การฟัง การอ่าน การพูด การเขียน การออกเสียงอักขระ การรับรู้คำศัพท์และความหมาย การฝึกแต่งคำคล้องจอง
- ทักษะการคิด เช่น ความทรงจำ การเรียบเรียงเรื่องราว การรับรู้ถึงตรรกะหรือความเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อเพลง และการลำดับเวลา
- ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เช่น การสร้างเนื้อเพลงหรือจังหวะเพลงใหม่ๆ การออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกแบบท่าเต้น ออกแบบปกอัลบั้ม
ส่วนผลในเชิงนามธรรม ก็สืบเนื่องมาจากการที่เสียงดนตรีนั้นได้ "ทำงาน" ภายในตัวของเด็กๆ เกิดเป็นความพึงพอใจ ความสุขใจ ณ ขณะที่ขับร้องและเล่นดนตรี การได้มีโอกาสสร้างสรรค์บทเพลงของตนเองทั้งฝึกร้องและเล่นดนตรีรวมทั้งกระบวนการบันทึกเสียงนั้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ เด็กๆ สามารถรับรู้ถึงความสำคัญของการฝึกฝนตนเอง และความสำคัญของการฝึกซ้อมร่วมกับผู้อื่น เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมผ่านการฝึกปฏิบัติทางดนตรี จนเมื่อได้มีผลิตผลงานเพลงเป็นของตนเองก็ก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และมีแรงกระตุ้นที่จะพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในมุมมองของวิทยากรโครงการพิเศษผู้ที่คลุกคลีปลุกปั้นและมีส่วนกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างมากคือ คุณเรียวจันทร์ ผลอนันต์ หรือพี่T-two ของน้องๆก็ได้ให้แง่มุมไว้อย่างน่าสนใจว่า "นอกเหนือจากการได้เห็นถึงความมานะพยายามของเด็กๆ ได้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของวัยเยาว์ที่แสดงออกมาได้อย่างน่าทึ่งแล้ว การได้มีส่วนบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ดนตรีที่แฝงเร้นอยู่ในตัวของเด็กๆ ทุกคน ให้ได้รับการรดน้ำใส่ปุ๋ยบำรุงให้งอกงาม เกิดเป็นดอกผล เพื่อนำมาแบ่งปันและสร้างความรื่นรมย์ให้กับสังคมนั้น ก็นับได้ว่าเป็นผลที่สูงค่าซึ่งไม่อาจประเมินได้ด้วยเครื่องมือใดๆ"
"ถ้าหากเราไม่เปิดโอกาสให้ดนตรีเข้ามาอยู่ในโลกของเด็กๆ
แล้วเด็กๆ จะเข้ามาอยู่ในโลกของดนตรีได้อย่างไร?"
หากท่านต้องการมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนกิจกรรม " ดนตรี + กวี + ศิลปะ = อิสรภาพ"เพื่อน้องๆเยาวชน ในบ้านพักฉุกเฉิน สามารถร่วมบริจาคเงิน หรือเครื่องดนตรี ทั้งกีตาร์ อูคูเลเล่ คีบอร์ด หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่ท่านไม่ใช้แล้ว ให้กับเด็กๆเหล่านี้ได้ ที่ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพโดยวิทยากร : เรียวจันทร์ ผลอนันต์
เรียบเรียง/ตกแต่งภาพโดย : alexlivfc@hotmail.com