กระบวนการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉิน

การดูแลผู้ที่ประสบปัญหา เป็นไปอย่างค่อนข้างครบวงจร โดยเฉพาะกรณีที่เข้ามาพักที่บ้านพักฉุกเฉิน ซึ่งรวมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ดูแลด้านสุขภาพ ด้านกฎหมาย รวมทั้งฝึกอาชีพ ให้ ในกรณีที่สามารถเอื้อมถึงครอบครัว ก็จะได้ดำเนินการฟื้นฟูดูแลเพื่อให้การคืนสู่ครอบครัวเป็นไปด้วยดี จุดเน้นของการร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา คือ การให้ผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงเพ็ญศรี พิชัยสนิธ นายกสมาคมฯ ได้ให้ภาพรวมของการดูแลไว้ว่า " ผู้เดือดร้อนทั้งหญิงและเด็กของบ้านพักเรา มีสิ่งเหมือนกันคือ มีต้นทุนชีวิตต่ำ โดยเฉพาะต้นทุนจากครอบครัว เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวแตกแยก และ/หรือครอบครัวมีความรุนแรง สองประเด็นเหตุนี้ผลักดันให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และท้ายสุดเขาจึงมาอยู่กับเราที่บ้านพักฉุกเฉิน

การพูดคุยสอบถามถึงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขาได้ภาพปัญหาซับซ้อนหลายเรื่อง แต่ที่คล้ายคลึงกัน คือการขาดความรัก ความอบอุ่นในวัยเด็กที่ถูกฝังไว้ในจิตใต้สำนึก ชีวิตระเหเร่ร่อนอยู่กับแม่ หรือพ่อ หรือยาย ย่า ลุง ป้า หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้าน ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับใครจริงจัง โอกาสทางการศึกษา ส่วนใหญ่ก็เพียงจบประถมปีที่ 6เมื่อเข้าสู่วัยสาวชีวิตอิสระเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด คบเพื่อนตามใจปรารถนา พบคนมาแสดงความสนใจ พอใจ ชักชวนไปไหน ทำอะไร ก็คล้อยตาม เชื่อคนง่าย คล้ายขาดดุลยพินิจ ด้วยรู้สึกดีที่มีคนต้องการและเห็นคุณค่าตน

เมื่อชีวิตที่เลือกล่มสลายในเวลาไม่นาน แม้พยายามยืนขึ้นใหม่ด้วยตนเองก็เป็นไปอย่างขาดความเชื่อมั่น ด้วยการศึกษาน้อยและขาดทักษะอาชีพก็ทำให้ขาดโอกาสได้งานที่มั่นคง และแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้พบคนดี เพราะสภาพแวดล้อมของชีวิตให้ทางเลือกไม่มาก ฉะนั้นการตัดสินใจผิดซ้ำซากจึงพบได้บ่อย จนเราอาจเกิดความสงสัยว่าผิดแล้วไม่เรียนรู้เลยหรือ ทำไมคิดผิด ตัดสินใจผิดอยู่เรื่อย จนชีวิตบอบช้ำ หมดกำลังใจ สิ้นหวัง

ภาระกิจหลักเรื่องแรกของนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวชีวิตใหม่ให้ผู้เดือดร้อน คือ การปลอบขวัญ ให้กำลังใจ ให้ความเข้าใจ และพยายามแก้ไขความคิดผิดต่างๆ เพื่อให้เกิดการมองปัญหาของตนเองอย่างเข้าใจ ยอมรับ และเกิดความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาของตนเองได้ ผลลัพธ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้เดือดร้อนไม่ผ่านกระบวนการ หรือกิจกรรมการเสริมสร้างให้เกิดการเห็นคุณค่าของตนเอง และความเชื่อมั่นตนเองให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งแน่นอนต้องใช้เวลาที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคนแต่ละเรื่อง

โดยปกติมนุษย์จะเห็นคุณค่าตนเอง เมื่อผู้อื่นแสดงออกให้เรารับรู้ได้ว่าเรามีคุณค่า มีความสามารถ ซึ่งสะท้อนออกมาจากการได้รับความรัก คำชื่นชมต่างๆ และการยอมรับเราอย่างที่เราเป็น ใครล่ะเป็นผู้แสดงออกในเรื่องนี้ให้เราได้รับรู้ แน่นอนที่สุด พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติมิตร ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง ผู้ใกล้ชิด เป็นผู้แสดงออกให้เราได้รับรู้ว่า เรามีคุณค่าและมีความสามารถ ฉะนั้น ต้นทุนชีวิตสำคัญของเราจึงต้องได้จากครอบครัวและโรงเรียนตั้งแต่วัยเด็ก หากวันนี้เราขาดครอบครัวและโรงเรียนที่ดี มีความเข้มแข็งและเข้าใจเด็ก สังคมไทยคงต้องคิดถึงระบบงาน และกลไกที่สามารถชดเชยได้ ไว้เป็นเครือข่ายสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป "