การอพยพ และเพื่อนร่วมทาง


   
          ในช่วงกลางเดือนตุลาคม2554 ที่ผ่านมา ผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินยังคงออกเป็นอาสาสมัครแพ็คถุงยังชีพ และแพ็คกระสอบทราย ในกิจกรรม "บ้านพักฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ฉุกเฉินกว่า" รวมทั้งสมาคมยังได้เปิด ศูนย์พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย ซึ่งพวกเราต่างก็คาดไม่ถึงว่าน้ำจะเข้าท่วมสมาคมฯและไม่คาดว่าระดับน้ำจะท่วมสูงถึง 1.50 – 2 เมตร
          จนกระทั่งในวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเราที่ยังพักอาศัยอยู่ภายในสมาคมฯ ทั้งเจ้าหน้าที่ และทั้งสมาชิกบ้านพักฉุกเฉิน ต่างขนย้ายสิ่งของเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อหนีน้ำ บ้านพักฉุกเฉินได้จัดการย้ายศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน และบ้านเด็ก รวมทั้งสมาชิกผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี มาพักอยู่ ณ อาคารคุณหญิงสิน (อาคาร5 ชั้น) และยังมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งที่มาพักอาศัยอยู่ที่วีเทรนฯพร้อมครอบครัวเนื่องจาก น้ำได้เข้าท่วมบ้านที่อยู่ในย่านดอนเมืองแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ บ้านพักฉุกเฉินได้ย้ายโรงครัวมาอยู่ที่ชั้นสองของอาคารห้าชั้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกชีวิตในสมาคมฯ
   
   

          สัญญาณเตือนถึงความวิกฤตอย่างแรกก็คือไฟฟ้าดับในช่วงบ่ายของวันที่ 26 ตุลาคม ทุกคนเริ่มวิตกกังวล พวกเราเริ่มสำรองน้ำดื่มน้ำใช้ อย่างที่สองน้ำไม่ไหลในช่วงเย็น ความวิกฤติอย่างที่สามเริ่มขึ้นในวันที่ 27 เมื่อสมาชิกผู้หญิงท้องแก่คนหนึ่งมีอาการเจ็บท้องใกล้คลอด นักสังคมสงเคราะห์จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากสถานีตำรวจดอนเมืองเพื่อนำส่งโรงพยาบาล การอพยพรอบแรกของพวกเราจึงเริ่มต้นขึ้น

     
     
     

          เวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นาย ได้นำเรือเข้ามารับ คนท้องที่เจ็บท้องคลอด 1 ราย พร้อมกับคนท้องที่มีอายุครรภ์ใกล้คลอดอีก 2 ราย โดยมีคุณณัฐิยา ทองศรีเกตุ หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งยังได้ช่วยเจ้าหน้าที่อีกจำนวน 5 รายให้ได้อพยพออกจากพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย การเดินทางเพื่อออกจากสมาคมฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า แต่ในความรู้สึกของคณะผู้อพยพรู้สึกว่าเราใช้เวลานานกว่าความเป็นจริงมากมาย คนท้องที่ใกล้คลอดส่งเสียงร้องเจ็บท้องอยู่เป็นระยะ พร้อมกับมีน้ำเดินตั้งแต่อยู่ในเรือ เมื่อสอบถามว่าลูกคนที่เท่าไร( ในใจคนถามภาวนาให้เธอตอบว่าลูกคนแรก) แต่แล้วจำนวนนิ้วมือที่เธอยกให้เราดูช่างสร้างความหนักใจให้พวกเราทุกคนมากขึ้นเพราะตีความได้ว่า เป็นลูกคนที่สี่ ทุกคนจึงไม่กล้าหายใจแรง กลัวว่าจะเป็นการช่วยเธอเบ่งคลอด ทุกคนผลัดเปลี่ยนกันพูดคุยให้กำลังใจเธอเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ระหว่างทางเรายังพบผู้คนมากมายที่ลุยน้ำออกมาเพื่ออพยพออกจากพื้นที่เช่นเดียวกันทุกคนต่างสอบถามและโบกไม้โบกมือให้กันเหมือนคนรู้จักกันมาก่อน แล้วคณะของเราทั้งหมดก็ไปถึงจุดนัดพบกับรถตำรวจของสถานีตำรวจดอนเมืองที่มารอรับคนท้องไปโรงพยาบาล แต่รถตำรวจก็เกิดสตาร์ทไม่ติด กลุ่มคนที่อยู่ริมถนนต่างช่วยหาเก้าอี้มาให้คนท้องนั่งรอเพราะเธอมีน้ำเดินเรากลัวว่าถ้าเธอเดินลูกเธอจะคลอดออกมาได้ ผ่านไปประมาณเกือบสิบห้านาทีรถก็ยังสตาร์ทไม่ติดกลุ่มคนที่รอรถทหารอยู่แถวนั้นจึงให้คนท้องขึ้นรถและได้ช่วยกันเข็นรถตำรวจจนสามารถติดเครื่องขับข้ามสะพานออกจากซอยไปได้ แต่อุปสรรคยังไม่หมดลง เนื่องจากรถตำรวจนั้นเตี้ยเกินไปจึงไปจอดตายอยู่หน้าโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง และได้มีรถทหารผ่านมาช่วยเหลือแต่รถสูงเกินไปคนท้องที่เจ็บท้องไม่สามารถขึ้นรถได้ สักครู่จึงมีรถไฟฟ้าผ่านมาอีก 1 คันและได้ช่วยรับคนท้องไปส่งที่โรงพยาบาลวิภาวดีเมื่อแพทย์ตรวจดูเบื้องต้นพบว่ายังไม่คลอด จึงให้นำส่งไปคลอดยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยฝากท้องอยู่คือวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ซึ่งเธอคนนั้นก็ได้คลอดลูกในวันต่อมาเป็นเด็กหญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี

   
          นี่คือจุดเริ่มต้นในการอพยพของพวกเราที่เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สำเร็จไปได้ด้วยดีด้วยความช่วยเหลือของหลายๆฝ่าย ชีวิตเด็กน้อยที่แสนบริสุทธิ์คงไม่สามารถลืมตาขึ้นมาดูโลกด้วยความปลอดภัยได้ หากปราศจากน้ำใจของทุกคนในวันนั้น ซึ่งเราต้องขอขอบคุณทุกๆท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

เรื่องและภาพ : จิตรา นวลละออง