สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
หน้าแรก
|
บ้านพักฉุกเฉิน
|
ศูนย์ฝึกอาชีพ
|
พัฒนาเยาวชน
|
สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายฯ
|
วีเทรน อินเตอร์เนชั่นแนลเฮ้าส์
|
โครงการวิทยาลัยแม่ชี
ก็...มันไม่ได้ถาม
Base on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
“ ซ่าส์ ”
หญิงสาวรูปร่างเล็กกะทัดรัด ผิวสองสี มีผื่นพุพองตามแขน ขา บ้างประปราย ตอนนี้ซ่าส์อายุได้ 18 ปี เธอบอกว่าเธอคือเด็กเร่ร่อนมาตั้งแต่อายุได้ 14 ปี เพราะเธอคิดว่ากรุงเทพฯ คือเมืองศิวิไลซ์ ความร่ำรวย และความเจริญทุกอย่างอยู่ที่นี่ ซ่าส์หลีกหนีชีวิตอันลำเค็ญแบบอดมื้อกินมื้อ หรือไม่ได้กินเลยสักมื้อในบางวันที่บ้านนอก เพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองกรุง... จริงๆ แล้วในแทบทุกพื้นที่ในโลกใบนี้ต่างก็มีมุมมืดซุกซ่อนอยู่... หากมนุษย์คนใดที่ไม่รู้เท่าทันหรือปราศจากผู้คุ้มครองดูแลชี้แนะแนวทางที่ดีแล้ว เขาเหล่านั้นก็อาจหลงและติดอยู่ในมุมมืดนั้น... คล้ายกับชีวิตของซ่าส์ที่เธออยากแบ่งปันให้กับเด็กๆ หรือผู้หญิงคนอื่นฟังเพื่อเป็นบทเรียนและไม่ตกลงสู่หลุมดำอย่างเธอ...
ซ่าส์ คือ ทารกผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งในจำนวนทารกอีกมากมายที่โชคร้ายได้รับเชื้อเอช ไอ วี หรือโรคเอดส์มาจากผู้ให้กำเนิด ซ้ำร้ายเมื่อเกิดมาได้ไม่นานพ่อแม่ก็ตายจากไปด้วยโรคเอดส์ทิ้งให้เด็กน้อยอยู่ในความดูแลของยาย ซ่าส์ป่วยกระเสาะกระแสะมาตลอด... แต่ความยากจนนั้นดูท่าว่าจะร้ายกาจกว่าเชื้อ เอช ไอ วี เพราะ เงิน ก็คือตัวละครเอกในชีวิตของซ่าส์ หากมีเงิน ซ่าส์คงได้รับการตรวจรักษาสุขภาพได้ดีกว่านี้... หากตั้งคำถามว่าแล้วไม่ใช้สิทธิ์บัตรทองล่ะ?...
หลายคนที่ไม่ได้เคยลิ้มลองรสชาติความจนคงไม่เข้าใจหรอกว่า... จนแบบจนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร?...
แม้กระทั่งจะกินยังไม่มีก็คงไม่ต้องนึกหรอกเรื่องไปหาหมอ... เวลาป่วยก็พักให้หายๆ ไปเอง... แล้ววันหนึ่งญาติข้างบ้านทนไม่ไหวจึงพาซ่าส์ไปหาหมอ ซ่าส์จึงได้รับการรักษาและกินยาต้านไวรัสครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี... แต่ซ่าส์และครอบครัวก็ยังคงยากจนและยังจนซ้ำซ้อนเข้าไปอีกเมื่อ ยายที่เป็นเสาหลักในชีวิตจากไปด้วยโรคเบาหวาน ทิ้งให้ซ่าส์อยู่กับลุงอย่างยากจนข้นแค้น และลุงก็ตัดช่องน้อยแต่พอตัวบวชเป็นพระไป ซ่าส์จึงเข้าสู่ภาวะวิกฤต บางวันไม่ได้กินอะไรเลย ...ถ้าไปโรงเรียนก็ยังพอมีอาหารกลางวันที่โรงเรียนกินแต่พอป่วยก็ต้องออกจากโรงเรียน นี่จึงเป็นเหตุให้ซ่าส์ต้องไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า...
เด็กผู้หญิงอายุเพียง 14 ย่าง 15 ปีเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถไฟฟรีเพียงลำพัง โดยไม่มีเงินติดตัวสักบาท มีเพียงน้ำดื่มหนึ่งขวดติดกาย เมื่อมาถึงหัวลำโพงซ่าส์ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปทางไหนดี คนรู้จักก็ไม่มี ซ่าส์ทรุดตัวลงนั่งอยู่หน้าหัวลำโพงอย่างอับจนหนทางไปจนตะวันเริ่มหมดแสงท้องก็เริ่มร้องประท้วงด้วยความหิว... จิตใจก็เริ่มมืดมน ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของความรู้สึกโดดเดี่ยว หวาดกลัวและหิวโหย ก็มีเด็กผู้ชายวัยไล่เลี่ยกับซ่าส์เข้ามาพูดคุย... ช่วงเวลาเร่งด่วนของความอยู่รอดก็เป็นตัวผลักดันให้ซ่าส์ตามเด็กชายคนนั้นไป เด็กผู้ชายคนนั้นพาซ่าส์ไปกินข้าว... และเมื่อท้องอิ่มก็ได้เวลาพุดคุยธุรกิจและหาเงิน นั่นคือมันให้ซ่าส์ทำงานขายบริการทางเพศ ซ่าส์ต้องไปนอนกับแขกที่มันหาให้ เมื่อได้เงินมาก็ยังต้องเอาเงินไปเปิดโรงแรมจิ้งหรีดนอนกับมันอีก... ชีวิตในมุมมืดของซ่าส์ในกรุงเทพฯ นับหนึ่งที่นี่นั่นเอง... ซ่าส์บอกว่าเด็กผู้ชายพวกนี้เป็นนกต่อให้กับคนหรือกลุ่มที่ทำธุรกิจแบบนี้ มันทำแบบนี้กันเป็นทีมทำกันเป็นประจำ... และสำหรับเด็กที่ไม่มีทางไปก็คล้ายกับเหยื่อที่ถูกล่อให้ติดกับหรือบางทีก็รู้ว่าเป็นกับดักแต่ถ้าเป็นกับดักที่มีผลประโยชน์ให้บ้าง... ทำให้อยู่รอดพอที่จะมีพื้นที่หายใจต่อไปบนโลกใบนี้... ก็ยังดีกว่าไม่ใช่หรือ?... ถ้าไม่ไปกับคนพวกนี้จะไปทางไหนล่ะ?
ซ่าส์ ใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนและทำงานขายบริการทางเพศอย่างเต็มตัว... โดยมีเด็กผู้ชายวัยรุ่นเป็นแมงดาพ่วงตำแหน่งแฟน... พร้อมทั้งมีผู้ชายที่ใจเป็นหญิงหรือที่ซ่าส์เรียกว่ากะเทยเป็นผู้ดูแลเงินที่เธอหามาได้ นอกจากนี้แฟนแมงดาของซ่าส์ก็ยังมีเซ็กส์กับกะเทยพวกนี้อีกที
การทำงานแบบนี้ถ้ามีแขกมีเงินก็ได้นอนที่ดีหน่อยแต่ถ้าไม่มีแขกก็ต้องเร่ร่อนนอนตามที่สาธารณะทั่วไป... ป้ายรถประจำทาง สวนสาธารณะ หัวลำโพง ต่างก็เป็นที่ซุกหัวนอนของเด็กเหล่านี้... บางทีไม่มีที่ไปซ่าส์กับเพื่อนๆ ก็ไปนอนที่พักของมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เปิดในช่วงกลางวันจนถึงสองทุ่มเพื่อให้กับเด็กเร่ร่อนได้ไปพักทำความสะอาดร่างกายและกินข้าว การใช้ชีวิตอยู่ในวงการนี้ก็เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก หาลูกค้าหาแขกและเก็บเงินได้เท่าไหร่ก็จะถูกขูดรีดไปเป็นทอดๆ... ถ้าคิดเบี้ยวหรือหนีก็จะถูกทุบตี... ทั้งพวกแฟนแมงดากับคนคุมพวกนี้ก็เสพยาเสพติดทั้งดมกาวและยาบ้า บางครั้งที่ถูกให้ส่งยาเสพติดที่พวกเธอไม่อยากทำเลย
ในวันหนึ่งเมื่อความอดทนหมดลงซ่าส์จึงหนีไปทำงานที่อื่น เธอเกือบจะหลุดพ้นจากพวกมันแต่โลกนี้มันกลมจริงๆ... ระหว่างที่ซ่าส์อยู่บนรถเมล์และรถเมล์จอดที่ป้ายๆ หนึ่งแฟนแมงดาและกะเทยต้นสังกัดของเธออยู่ที่ป้ายรถเมล์นั้น... มันเห็นเธอโดยที่ซ่าส์ยังไม่ทันคิดหาวิธีเอาตัวรอดเลย พวกมันก็ขึ้นมาจิกกระชากผม จนหนังหัวของเธอแทบหลุด มันฉุดกระชากลากถูซ่าส์ลงไปจากรถและกระทืบเธอที่ป้ายรถเมล์ ไม่มีใครช่วยเหลือมีแต่คนมอง เสียงแฟนแมงดาของซ่าส์ตวาดผู้คนแถวนั้นว่า “ มึงมองหาเห้... อะไรกัน? ” เท่านั้นก็ไม่มีใครอยากเข้ามามีเอี่ยวในเรื่องนี้ แล้วมันก็จิกหัวซ่าส์ไปเรียกแท็กซี่คันหนึ่ง การตบตีระรอกใหม่ก็เกิดขึ้นอีกบนรถแท็กซี่ ระหว่างตบตีมันก็ตะคอกถามว่า “ มึงจะเอายังไง? จะเลือกกูหรือคนอื่น? ” เมื่อมันไม่ได้รับคำตอบมันก็ปล่อยถ้อยคำหยาบคายออกมาอย่างต่อเนื่อง โชว์เฟอร์แท็กซี่ดวงซวยก็ร้องขอให้ทุกคนลงจากรถแต่คงไม่ทันแล้วถ้าไม่อยากเจ็บตัวก็จงขับต่อไป... แล้วซ่าส์ก็ต้องกลับไปขายตัวหาเลี้ยงพวกมันเหมือนเดิม...
ไม่นานอาการป่วยของซ่าส์เริ่มถามหาเพราะว่าตั้งแต่เข้ากรุงเทพฯ ซ่าส์ไม่เคยไปหาหมอไม่เคยกินยาต้านไวรัสอีกเลย เธอขาดยามานานเกินไป ซ่าส์ทำงานไม่ค่อยได้ เงินก็ไม่มี เธอเริ่มคิดจะไปจากแฟนและคนคุมอีกครั้งเมื่อเธอบังเอิญได้งานๆ หนึ่งเธอจึงแอบไปอยู่กับแขกคนนั้นสองวัน เมื่อออกมาจากบ้านลูกค้าไม่มีที่ไปแล้วซ่าส์จึงไปอาบน้ำกินข้าวที่บ้านของมูลนิธิแห่งเดิม และนี่คงเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีโลกกลมอีกครั้ง เพราะซ่าส์ได้เจอกับแฟนแมงดาของเธอที่นั่นอีก มันปราดเข้ามาหมายจะตบตีเธอที่มูลนิธินั่นเลย โชคดีที่เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ และส่งซ่าส์มาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน...
ชีวิตของซ่าส์จึงเริ่มก้าวออกมาจากมุมมืด เธอได้เริ่มต้นในการดูแลสุขภาพและกินยาต้านอีกครั้ง ช่วงหนึ่งในการพูดคุยด้วยความสงสัยและเป็นห่วงในเรื่องการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นเราจึงสอบถามเธอถึงการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ว่า “
ซ่าส์ใช้ถุงยางอนามัยบ้างหรือเปล่าคะ? ” คำตอบที่ได้รับคือ “ กับลูกค้าหนูก็ใช้ตลอดทุกครั้งค่ะ... แต่กับแฟนหนูไม่ได้ใช้เขาก็ไม่รู้ว่าหนูเป็นโรคนี้ ” เมื่อถามเหตุผลว่าเพราะอะไรเธอถึงไม่บอกถึงเรื่องที่เธอป่วยกับพวกที่เธอเรียกว่าแฟน(แมงดา) ซ่าส์ตอบพร้อมยักไหล่เหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรว่า...“ ก็... มันไม่ได้ถาม ”
หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์:
knitnaree@hotmail.com
และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์:
admin@apsw-thailand.org
Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง
www.facebook.com/apswthailand.org
หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม
www.apsw-thailand.org