จุดเปลี่ยน

Base on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

“หวัดดีค้าบ... หวัดดีค้าบ... คิกคิก” เด็กชายตัวน้อยผิวขาว ผู้มีดวงตากลม ผมสีน้ำตาลหยักศก วัย 3 ขวบ ส่งเสียงทักทายผู้คนพร้อมเสียงหัวเราะอันน่าหมั่นเขี้ยว “พีท” คือชื่อของเด็กชายที่แสนจะน่าเอ็นดูคนนั้น พีทมักจะเดินนำหน้าแม่แล้ววิ่งวนวุ่นวายไปเรื่อย... บางครั้งก็เฉไฉออกนอกเส้นทางเมื่อแม่เข้าไปตามตัวพีทก็ยังคิดว่าแม่คงจะเล่นไล่จับกับตนจึงวิ่งไปหัวเราะไป ช่างเป็นภาพที่ดึงดูดสายตาจากทุกคนที่พบเห็นและพาให้ต้องยิ้มตามกับความไร้เดียงสาของเด็กน้อยจอมซน

แม่ของพีทชื่อว่า “สุนิสา” เธอเป็นหญิงสาววัย 26 ปี ผมยาว ผิวขาว รูปร่างผอมบาง ภาพลักษณ์ของสุนิสานั้นก็ดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเธอหลายปี สุนิสาเป็นหญิงสาวที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง พูดจาไพเราะและอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้ใหญ่ ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพีทจึงเป็นเด็กน่ารักอารมณ์ดี จะมีงอแงบ้างก็เมื่อเจ็บป่วยและไม่สบายเท่านั้น ด้วยความสงสัยว่า สุนิสา มีความเป็นมาอย่างไรจึงมาอยู่บ้านพักฉุกเฉิน สามีจะทอดทิ้งผู้หญิงที่น่ารักเช่นนี้ได้จริงๆหรือ? ผู้ชายแบบไหนนะที่ทิ้งขว้างลูกเมียที่น่ารักเช่นนี้? เราจึงได้เข้าไปพูดคุยกับเธอ

สุนิสาเล่าว่า เธอเป็นเด็กต่างจังหวัดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่นั้นแยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้เพียง 3-4 ขวบ สุนิสา มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เธอเป็นคนกลาง ปัจจุบันต่างก็แยกไปมีครอบครัวของตนเองกันหมดแล้ว เดิมทีที่พ่อแม่เลิกกันสุนิสายังอยู่กับพ่อ แต่ต่อมาป้าก็มารับภาระดูแลและส่งให้เรียนจนจบม.3 เมื่อเรียนจบจึงออกมามีชีวิตของตนเอง โดยไปรับจ้างทำงานเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนต่อมาเมื่ออายุได้เพียง 17 ปีก็พบรักกับแฟนที่อายุมากกว่าตน 4 ปี แฟนทำงานรับจ้างขับรถส่งของ คบหากันไม่กี่เดือนก็ตกลงอยู่กินกับเขาฉันท์สามีภรรยาโดยย้ายเข้าไปอยู่กับครอบครัวของเขา ด้วยบุคลิกลักษณะที่ดี ขยันทำงาน และเข้ากับคนง่ายของสุนิสาเธอจึงเข้ากับครอบครัวของฝ่ายสามีได้เป็นอย่างดีส่วนสามีเขาเป็นคนดีมากดูแลครอบครัวดี แต่ต่อมาก็ได้รู้ว่าเขาเป็นคนโมโหร้ายอารมณ์ร้อน แถมพ่อแม่เขาก็บอกว่าลูกเขาเคยเสพยา แต่ก็เลิกตอนมาคบกับสุนิสา เมื่อย้ายมาอยู่กับครอบครัวสามีสุนิสาก็เปลี่ยนงานมาทำงานอยู่ร้านสะดวกซื้อ ก่อนตั้งท้องลูกคนแรกสามีก็เปลี่ยนพฤติกรรมจากดีสุดขั้วมาชั่วสุดขีด ทั้งเสพยา กินเหล้า เล่นการพนัน และทุบตีทำร้ายสุนิสาไม่เว้นแม้กระทั่งตอนที่มีลูกของเขาอยู่ในท้องไม่ว่าจะท้องลูกคนแรกท้องลูกคนเล็กเขาก็ไม่เคยละเว้น ถ้าคนในครอบครัวสามีอยู่ในเหตุการณ์ก็จะเข้ามาช่วยเหลือสุนิสาจนต้องโดนตีไปด้วยทุกครั้ง หากไม่มีใครอยู่สุนิสาก็ต้องเป็นเหยื่อของอารมณ์ของสามีเพียงลำพัง

คงมีคนตั้งคำถามว่าแล้วผู้ชายมันทำขนาดนี้ยังจะทนทำไม? “หนูทนเพื่อลูก... หนูเคยหนีจากเขานะแยกไปจากเขาได้ 4 เดือน แต่หนูทนคิดถึงลูกคนโตไม่ไหวหนูจึงต้องกลับไป กลับไปแรกๆเขาก็ดี แต่พอไม่นานเขาก็เป็นอย่างเดิม เมายามาพูดไม่ถูกหูก็ทำร้าย กระทืบ ตบตี เตะต่อย” ...นี่คือคำตอบของผู้หญิงตัวเล็กๆที่มีหมวกทางสังคมหลายใบ...เธอเป็นทั้งสตรี... ภรรยา... เหยื่อความรุนแรงและที่สำคัญเธอยังเป็นแม่... แม่ที่จะทำอะไรมักนึกถึงลูกไว้ก่อนเสมอ... ตนเองเอาไว้ทีหลัง

แต่ความอดทนของคนเราก็ต้องมีจุดสิ้นสุดเพราะสามีของสุนิสาเล่นยาไอซ์หนักขึ้น ทำงานบ้างไม่ทำบ้าง เล่นการพนัน ซ้ำมีผู้หญิงอื่น กลับบ้านก็โมโหฉุนเฉียวทุบตีเมียทั้งที่เมียทำงานบ้าน ทำงานข้างนอก และเลี้ยงลูก สามีก็ไม่ช่วยเหลืออะไรไม่รับผิดชอบอะไรในครอบครัวเลยมีแต่ทำร้ายและทำลาย สุนิสาจึงพาพีทเข้ามากรุงเทพฯเพื่อมาหาป้า ส่วนลูกคนโตนั้นต้องเรียนหนังสือเธอจึงต้องฝากไว้กับทางครอบครัวของสามี เมื่อสุนิสามาอยู่กับป้า ป้าจึงได้พาเธอกับพีทมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน ... เมื่อถามถึงจุดเปลี่ยนที่ชีวิตครอบครัวของสุนิสาและสามีต้องพังลงสุนิสาสามารถให้คำตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดคิดเลยว่า

“เพราะเขาคนเดียวเลย ปัญหาทั้งหมดมาจากตัวเขาเองคนเดียว เขาทำลายทุกอย่างทั้งติดเพื่อนเอาแต่เที่ยวกินเหล้า เล่นยา เล่นการพนัน การงานก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง รายได้รายจ่ายในครอบครัวหนูต้องรับผิดชอบ เพราะเขาไม่สนใจอะไรเลย ซ้ำยังมาทำร้ายกันอีก”

สำหรับพีทแม้ว่าภายนอกจะเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใสแต่ตั้งแต่เกิดมาเด็กชายจอมซน มีอาการชักไปแล้วรวม 7 ครั้ง โดยตั้งแต่มาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินพีทมีอาการเป็นไข้สูงและชักไป 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่และสุนิสาต้องปฐมพยาบาลโดยการเช็ดตัวลดอุณหภูมิในร่างกายพร้อมนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน

“ตอนแรกที่พาลูกมาอยู่ที่นี่หนูไม่อยากอยู่เลยปรับตัวไม่ได้ไม่มีเพื่อนแต่พออยู่ไปสักพักก็ดีขึ้นมีเพื่อน ตอนนี้กลางวันหนูก็ออกไปทำงานข้างนอกและฝากเลี้ยงน้องพีทไว้ที่บ้านเด็ก หนูวางแผนว่าจะทำงานเก็บเงินแล้วค่อยพาลูกไปอยู่ด้วยกันข้างนอกแต่ตอนนี้ต้องขอความช่วยเหลือที่นี่ไปก่อนเพราะน้องพีทมีโรคประจำตัวที่ถ้ามีไข้สูงจะชัก มันเป็นกรรมพันธุ์ค่ะเพราะตอนเด็กๆหนูเองก็เป็นไข้แล้วก็ชักเหมือนกัน”

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org

Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org