บ้านพักฉุกเฉิน ช่วยเหลือปัญหาสังคมได้อย่างไร?

 

         คำตอบอย่างแรกนั้นคือ... ที่ตั้งหลัก... ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาวิกฤติ เพราะ โดยธรรมชาติแล้วยามที่เราพบเจอปัญหาเข้ามาในชีวิตนั้น เรามักตีบตันและมืดไปแปดเก้าหรือสิบด้านกันเลยทีเดียว... หากมีเวลาได้คิด หรือ มีผู้รับฟังให้การปรึกษาเรื่องต่างๆ ก็จะคลี่คลายไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ดังตัวอย่างที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว... แม่ลูกที่ถูกสามีเมาเหล้า ขี้ยา เตะต่อย ทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังขู่ฆ่า จนเกิดความหวาดกลัวก็ต้องหอบลูกหนีออกมาจากที่พักอาศัยที่อยู่ร่วมกับตัวอันตราย... เมื่อต้องหนีเอาตัวรอดแบบที่อาจจะเรียกได้ว่าไปตายเอาดาบหน้าคงไม่สามารถที่จะเอาอะไรติดตัวมาด้วยได้ การหอบหิ้วเอาลูกออกมาด้วยได้นั่นก็ถือว่าเก่งที่สุดแล้ว... ซึ่งในเบื้องต้นผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังคงคิดอะไรไม่ออกขอแค่ที่พักให้ตนเองและลูกได้นอนหลับอย่างปลอดภัยก่อน เรื่องอื่นค่อยคิดกันอีกที หรือ ปัญหาที่ทุกข์ใจอย่างสาหัสจนอยากจะฆ่าตัวตาย เช่น ไปตรวจเลือดแล้วพบว่าตัวเองติดโรคเอดส์... เมื่อได้มาพักตั้งสติและทำความเข้าใจเรื่องโรคทั้งยอมรับตนเองมากขึ้น ก็จะทำให้เปลี่ยนความคิดและพร้อมที่จะต่อสู้กับชีวิตและโรคร้ายต่อไป เป็นต้น

         ประการต่อมาได้แก่ กระบวนการด้านสังคมสงเคราะห์ ที่ต้องอาศัยผู้มีวิชาชีพและทักษะเฉพาะด้าน คือ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ที่จะมาช่วยในการให้การปรึกษา รับฟังปัญหา รวมทั้งบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งหากพบว่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ก็จะเข้าสู่กระบวนการในด้านการส่งพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา บำบัด อย่างเหมาะสมต่อไป อีกทั้งหากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องทางด้านกฏหมายก็ยังส่งพบนักกฏหมาย พาไปแจ้งความ รวมทั้งช่วยเหลือในการประสานงานด้านการดำเนินคดีต่างๆ จนจบกระบวนการ

         ระหว่างที่ผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในความดูแลของบ้านพักฉุกเฉินนั้น พวกเธอทำอะไรกัน?... ด้วยแนวคิดของ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ที่มุ่งหวังพัฒนาศักยภกาพผู้หญิง ดังนั้นเมื่อมีช่องทางที่จะสามารถพัฒนาสตรีเราจึงไม่ละทิ้งโอกาสนั้น... จึงได้มีการเสริมสร้างศักยภาพทั้งในด้านการฝึกทักษะอาชีพ การส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน และการส่งเสริมทักษะชีวิต ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว-คุมกำเนิด ทักษะการป้องกันภัยรอบตัว และความรู้ด้านกฏหมายเบื้องต้นที่ประชาชนควรรู้ เป็นต้น

         อีกทั้งด้วยความเข้าใจในบริบทของปัญหาท้องไม่พร้อม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการถูกข่มขืน และถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงได้มีศูนย์กนิษฐ์นารีที่ให้การช่วยเหลือในประเด็นปัญหาถูกข่มขืน/ล่วงละเมิดทางเพศ มีศูนย์ครอบครัวสมานฉันท์สำหรับช่วยเหลือในกรณีปัญหาครอบครัว มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนที่ให้การดูแลเด็กทารกแรกเกิด - 1.5 ปี และบ้านเด็กที่ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนวัย 2 ขวบ - 9 ขวบ ที่ติดตามมารดามาด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่

         ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของการดำเนินการช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉินแล้ว หากจะกล่าวว่าได้ให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรก็คงจะไม่คลาดเคลื่อนไปมากนัก หรืออาจจะเรียกว่า One Stop Service ก็คงไม่ผิด เพราะในกรณีที่มาด้วยปัญหา ไม่มีงานทำ ติดเชื้อ เอช ไอ วี หรือปัญหาอื่นๆที่เราได้พบว่า ผู้หญิงเหล่านั้นมีปัญหาอื่นที่ซ้อนอยู่ และ หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการกับปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกไปดำเนินชีวิตภายนอก เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ไม่มีวุฒิการศึกษา แม้กระทั่งผู้หญิงหลายรายที่ตกสำรวจไม่เคยแจ้งเกิดก็ยังให้การช่วยเหลือในด้านนี้อีกด้วย รวมไปถึงการเยี่ยมบ้าน โรงเรียน ชุมชน สถานที่ทำงานและเตรียมความพร้อมก่อนที่ผู้หญิงและเด็กเหล่านั้นจะต้องออกไปใช้ชีวิตภายนอก และบางครั้งนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ของบ้านพักฉุกเฉินยังเคยช่วยเหลือตำรวจสายสืบในการลงไปสืบข้อมูลของกลุ่มผู้กระทำผิด ในคดีรุมโทรมข่มขืนเด็กผู้หญิงก็ได้ทำมาแล้วเช่นกัน…

         จากรายงานสถิติการดำเนินงานของบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ 31 ปี 8 เดือน (สิงหาคม 2523-เมษายน2555) บ้านพักฉุกเฉินได้เป็นสถานที่ตั้งหลักและพักพิง ให้กับผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาที่หลากหลาย มาแล้วจำนวน 51,043 ราย

ข้อมูลสถิติ:ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ http://www.apsw-thailand.org/images/stat-april55.pdf
เรื่อง/ภาพ:จิตรา นวลละออง ฝ่ายบริหารโครงการและพัฒนาเยาวชน