หากินกับเด็ก

Base on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

หลายครั้งมาแล้วที่ฉันเคยได้ยินคำเล่าแบบปากต่อปากว่าในสังคมเมืองไทยของเรานั้นมักใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน อย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่ก็คงเคยได้ยินได้ฟังกันมาถึงกระบวนการขอทานที่มีการลักพาตัวเด็กเพื่อการนำไปขอเงิน ตัวฉันเองก็เคยประสบพบเจอด้วยตนเองมาแล้ว โดย ครั้งหนึ่งที่ฉันพบกับเด็กน้อยหน้าตามอมแมมมายืนขอเงินที่ป้ายรถประจำทางแห่งหนึ่ง ผู้คนมากมายต่างมองดูอย่างไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับเด็กน้อยคนนี้มากนัก มันช่างดูเหมือนเป็นเรื่องชินชาของคนในสังคมไทยเสียแล้วกระมังกับภาพเด็กที่มายืนแหงนคอมองผู้ใหญ่ด้วยแววตาอันอ่อนระโหย ปากก็พร่ำพูดถึงความยากลำบากเพื่อนำมาซึ่งความสงสาร หลายคนที่หยิบยื่นเศษเงินให้อาจด้วยความเวทนาหรืออาจเพื่อตัดรำคาญก็ไม่อาจรู้ได้ ฉันผู้ที่มักทนดูอะไรไม่ค่อยได้จึงเข้าไปพูดคุยกับเด็กตัวเล็กคนนั้น เด็กน้อยมีท่าทีตื่นกลัว เมื่อฉันซื้อของกินมาให้เขารับมันไว้และพยายามเดินหนี และไม่นานเลยฉันก็ได้รู้ว่าตัวฉันเองถูกติดตามและเฝ้ามองจากชายแปลกหน้าฉันจึงต้องวางมือจากเด็กคนนั้น ทำได้เพียงโทรศัพท์แจ้งหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องและดูแลด้านนี้โดยตรงซึ่งฉันเองก็ไม่รู้ว่าเด็กคนนั้นจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่... อย่างไร... ทุกวันนี้ภาพเด็กน้อยมอมแมมแหงนคอตั้งบ่าส่งสายตาแห่งความหวังมาที่ฉันก็ยังคงติดตาฉันอยู่อย่างไม่อาจลืมเลือน... และกระบวนการสูบเลือดและหยาดเหงื่อแรงงานจากเด็กก็ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีเพื่อนมาเล่าให้ฟังถึงการทำมาหากินกับเด็กในรูปแบบใหม่ นั่นคือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้เช่าลูกตั้งแต่เด็กทารกยันเด็กโตเพื่อนำไปนั่งขอทานในสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาดนัด สะพานลอย และงานวัด พ่อแม่ก็จะมีรายได้เป็นรายวัน อีกทั้งมีเวลาไปทำงานแถมยังมีคนเลี้ยงลูกให้อีกด้วย ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี(?) ซึ่งฉันเองก็ยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์เหล่านี้ได้ว่าที่เขาเล่ามาเป็นเรื่องจริงหรือไม่เพราะคนเล่าก็ฟังต่อ ๆ กันมาอีกที แต่เมื่อได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ฉันก็มักจะนึกถึงเด็กที่เคยมาขอเงินในวันนั้น และมันยิ่งทำให้ฉันสะท้อนในใจว่า นี่สถาบันครอบครัวของไทยมันยากจนข้นแค้นกันถึงขนาดต้องนำลูกเต้าออกมาให้เช่ากันแล้วหรืออย่างไร?...

วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ฉันได้มาคุยและได้รับฟังประสบการณ์ตรง ในการออกขอทานหาเลี้ยงตนเองและแม่ จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอมีชื่อว่า “น้อยหน่า” (นามสมมติ) เธอเป็นเด็กหญิงผิวคล้ำ รูปร่างผอมบาง ขณะนี้เธออายุได้ 11 ปี น้อยหน่าเป็นเด็กที่พูดจาฉะฉาน เธอเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฉันฟังได้ราวกับว่าฉันนั่งคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่งเลยทีเดียว จากการโต้ตอบกันฉันคาดว่าน้อยหน่าเป็นเด็กที่มีสติปัญญาที่ค่อนข้างดี นั่นคงเป็นเพราะความที่น้อยหน่าต้องดูแลทั้งตนเองและแม่ เธอต้องแบกความรับผิดชอบไว้บนสองบ่าเล็ก ๆ ของเธอตั้งแต่เธออายุได้เพียง 9 ขวบเท่านั้น…

น้อยหน่าเล่าว่าเธอเป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ เธอและพี่ ๆ อยู่ในความดูแลของยายชีวิตของเธอมีความสุขดี เธอได้เรียนหนังสือตามที่เด็กปกติควรจะได้เรียน แต่ความสุขและชีวิตวัยเด็กของเธอได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อแม่ซึ่งป่วยติดเชื้อ เอช ไอ วี ได้มารับตัวเธอออกมาจากบ้านยาย เมื่อน้อยหน่าต้องมาอยู่กับแม่น้อยหน่าจึงต้องประกอบอาชีพขอทานเดินขอเงินคนที่ผ่านไปผ่านมาอยู่ทั้งวัน ตกกลางคืนแม่ก็จะพาไปเช่าโรงแรมนอน ยังดีหน่อยที่น้อยหน่าบอกกับเราว่าเธอไม่เคยต้องนอนตามข้างถนนหรือป้ายรถประจำทางเลย เมื่อถามถึงรายได้ต่อวันน้อยหน่าบอกกับเราว่าได้วันละเป็นพันบาทซึ่งก็นับว่าเป็นรายได้ที่สูงพอสมควร น้อยหน่าหาเลี้ยงชีวิตตนเองและแม่อยู่แบบนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี เวลาที่แม่ไม่พอใจหรือไม่ได้ดั่งใจก็จะทุบตีเธอบ้างเป็นครั้งคราว การใช้ชีวิตที่เร่ร่อนขอทาน ลำพังผู้หญิงป่วยหนึ่งคนกับเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ อีกคนหนึ่ง ในสังคมที่อันตรายรอบด้านอย่างปัจจุบันนี้ มันช่างเสี่ยงต่อสวัสดิภาพ ของน้อยหน่าจริง ๆ หากมีใครที่คิดทำร้าย คิดจะฉุดคร่า หรือหากหลุดเข้าไปยังวงจรการค้ามนุษย์แล้วนั้น ฉันไม่อยากจะคิดเลยว่าเด็กหญิงน้อยหน่าจะเป็นอย่างไร?... ฉันจะได้มีโอกาสมานั่งคุยกับเด็กที่นั่งมองหน้าตาปริบ ๆ และช่างพูดช่างคุยอย่างนี้หรือไม่? ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของน้อยหน่ากับเรื่องราวที่เธอไม่สามารถเลือกได้เธอบอกกับฉันอย่างซื่อ ๆ ใส ๆ ว่า…

“หนูอยากกลับไปอยู่กับยาย หนูอยากเรียนหนังสือ ถ้าหนูอยู่กับยาย ๆ ก็จะส่งให้เรียนเหมือนพวกพี่ ๆ หนูเคยถามแม่ว่าทำไมแม่ไม่ไปเอาพวกพี่ ๆ เขามาอยู่กับแม่บ้างล่ะ? แม่เขาก็ไม่ตอบ แต่หนูคิดว่าถ้าแม่เอาพี่โต ๆ มาก็จะไม่น่าสงสาร คงจะขอเงินใครเขาไม่ได้”

จากนี้ไปเมื่อน้อยหน่าได้เข้ามาอยู่ในความคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์ฉันก็เชื่อมั่นว่า เธอจะได้เรียน ได้เล่น และได้กินอิ่มนอนหลับ เหมือนกับเด็กๆทั่วๆไป ถึงแม้ตอนนี้น้อยหน่าจะยังไม่สามารถกลับไปอยู่กับยายได้เนื่องจากไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าแม่ของน้อยหน่าจะไม่มาพาตัวน้อยหน่ากลับไปเสี่ยงอย่างเดิมอีก แต่ที่บ้านพักฉุกเฉินนี้เราก็มั่นใจได้ว่า น้อยหน่าจะปลอดภัย

ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of Child) ได้บัญญัติไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และ มีสิทธิในการมีส่วนร่วม หากท่านพบเห็นเด็กถูกกระทำความรุนแรง ค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน ล่วงละเมิด สามารถแจ้งเข้าไปได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 สายด่วน 24 ชม.ศูนย์ประชาบดี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org

Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org