วันปิยมหาราช

         ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งใน 44 ประเทศในโลกที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ประชาชนหรือพสกนิกรในประเทศไทย ล้วนมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัติริย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน เรียกได้ว่าสถาบันพระมหากษัติริย์นั้นเป็นศูนย์กลางแห่งความรักและยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยทั้งชาติ และในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็น  วันปิยมหาราช คือ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย    

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช
         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 57 พรรษา ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ ได้ทรงปรับปรุงทำนุบำรุงและเทิดเกียรติประเทศไทยให้มีฐานะสูงเทียบอารยประเทศอันเป็นที่ยกย่อง

พระราชกรณียกิจมีมากมายหลายด้านหลายประการที่สำคํญ และเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อมา ดังนี้

  • การเลิกทาส โปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาสเพื่อชาวไทยได้เป็นพลเมืองที่มีเสรีเสมอภาคกันตามกฎหมายการเลิกทาส ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
  • การปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศในแถบเอเชีย โดยมักอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ว่า เป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าอันเป็น "ภาระของคนขาว" ทำให้ต้องทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย โดยพระราชกรณียกิจดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อันประกอบด้วย

 

 
 
รัชกาลที่ 5

1.กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
2.กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
3.กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
4.กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
5.กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
6.กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
7.กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
8.กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
9.กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
10.กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
11.กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
12.กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์

  • การสาธารณูปโภค
  • การประปาทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452
  • การคมนาคมวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา ทรงเปิดทางรถไฟ กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทยนอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก
  • การสาธารณสุขเนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431
  • การไฟฟ้าพระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433
  • การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ

  • การศึกษา
  •          การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายการศึกษา ในปี พ.ศ.2414 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังโดยมีท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนอีกแห่งซึ่งสอนภาษาอังกฤษมีนาย ยอซ แปตเตอร์สัน เป็นอาจารย์ใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนหลวงอีกหลายแห่ง โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่สร้างขึ้นในวัดคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

  • การเสด็จประพาส
  •          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเสด็จประพาสเพื่อเสด็จดูแลทุกข์สุขของประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ และการเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลานาน 9 เดือน เพื่อเชื่อมความสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และในปี พ.ศ.2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้ นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองอย่างมากมาย

  • พระราชนิพนธ์ มีพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 10 เรื่อง
  • 1. ไกลบ้าน
    2. เงาะป่า
    3. นิทราชาคริต
    4. พระราชพิธีสิบสองเดือน
    5. กาพย์เห่เรือ
    6. คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา
    7. ตำรากับข้าวฝรั่ง
    8. พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
    9. โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์
    10. โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุข แก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง "

"ปิยมหาราช" นั้นแปลว่า "ราชายิ่งใหญ่ผู้ทรงเป็นที่รัก"

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org , กระปุกดอทคอม Kapook.com
เรียบเรียงข้อมูลและภาพโดย จิตรา นวลละออง(alexlivfc@hotmail.comฝ่ายบริหารโครงการและพัฒนาเยาวชน